ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สถาบันความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง นำภาคีไหมอาเซียนจัดสัมมนาจับคู่ธุรกิจไหมนานาชาติ ครั้งที่ 3 มุ่งเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและการตลาดตามรูปแบบบรรษัทบริบาล ทั้งเป็นเวทีเจรจาการค้าในลักษณะคู่ธุรกิจ พร้อมทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการและนักธุรกิจไหม เป็นเครื่องมือเจรจา/ซื้อขาย เข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวาง
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่โรงแรมพูลแมน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นร่วมกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute : MI) จัดประชุมสัมมนาและการเจรจาจับคู่ธุรกิจไหมนานาชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและการตลาดไหมตามรูปแบบบรรษัทบริบาล (CSR)” โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจไหมจากทั่วทุกภูมิภาคของไทย กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงอินเดีย ร่วมแสดงสินค้าและสัมมนาในงานดังกล่าว
การจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เน้นเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาดและการนำร่องรูปแบบบรรษัทบริบาล (CSR) ของบริษัทเอกชนและองค์กรที่ดำเนินกิจกรรม CSR สู่ผู้ประกอบการธุรกิจไหม ให้ตระหนักและมุ่งพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจไหม ซึ่งเป็นโอกาสและแนวทางเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจไหมด้านเทคโนโลยีและการตลาด สามารถกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ชนบท
ภายในงานได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของผู้ประกอบการไหมในประเทศ และผลิตภัณฑ์ไหมของผู้ผลิตไหมต่างประเทศ นำผลิตภัณฑ์มาร่วมแสดงอย่างคึกคัก ทั้งมีนักธุรกิจที่สนใจเข้ามาชมผลิตภัณฑ์และติดต่อเจรจาการค้าในลักษณะคู่ธุรกิจภายในงานนี้ โดยได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจ และนักธุรกิจไหม เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาธุรกิจและซื้อขาย ตลอดจนเป็นสื่อการตลาดให้กับธุรกิจไหมสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและคู่ค้าได้กว้างขวางมากขึ้น
ที่สำคัญภายในงานนี้มีพิธีลงนามกรอบปฏิญญาพันธมิตรไหมเอเชีย (Declaration of Asia Silk Alliance) โดยนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมลงนามกับกลุ่มภาคีไหมอาเซียน (ASEAN Silk Alliance) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ประกอบด้วย นายสฤษดิพร ชูประยูร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม, นายมาดูจาร์ กุมารี ดัตต้า ผู้จัดการโครงการ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และนายฟิลลิป โบรัวส์ หัวหน้ากลุ่มพันธมิตรไหมเอเชีย
เป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตระหนักถึงความสำคัญและจุดประสงค์ของกลุ่มภาคีไหมอาเซียน เพื่อพัฒนาธุรกิจไหม รวมไปถึงผลิตผลและคุณภาพของไหมในเอเชีย, สนใจและร่วมกันส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตในธุรกิจไหม, เสริมสร้างความสามารถในการตลาดโดยการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจห่วงโซ่ มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจไหม, สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อโอกาสในการลงทุน,
ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจไหมในชุมชนท้องถิ่นให้สามารถสร้างรายได้ และผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ, ตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับผลกระทบจากธุรกิจไหม เช่น การเกษตรที่ทำลายพื้นดิน การเสื่อมคุณภาพของพื้นดิน และขยะ, ส่งเสริมให้ชุมชนมีความยั่งยืน โดยลดการพึ่งพาการใช้น้ำมัน สนับสนุนเกษตรท้องถิ่นและผู้ทำการค้าอื่นๆ รวมไปถึงส่งเสริมให้กระบวนการผลิตคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น