xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองแปดริ้ว นำหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบสะพานข้ามคลองแขวงกลั่นล่าง พังถล่มวานนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ผวจ.ฉะเชิงเทรา นำหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบเหตุสะพานข้ามคลองแขวงกลั่นล่าง บนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3020 หลังพังถล่มหลังเกิดฝนตกหนักช่วงค่ำวานนี้ เผยเป็นสะพานเก่าแก่ที่ใช้งานมานานกว่า 32 ปี

ช่วงเช้าวันนี้ (20 ก.ย.) นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เช่น ทางหลวงชนบท โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ชลประทานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพสะพานข้ามคลองแขวงกลั่นล่าง ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ตั้งอยู่บนทางหลวงชนบท ฉช.3020 แสนภูดาษ-พิมพา (คลองใหม่-บางควาย) พื้นที่ ม.8 ต.หนองจอก อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่พังถล่มลงไปในลำคลอง ตั้งแต่เมื่อช่วงหัวค่ำที่ผ่านมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ท่ามกลางความหวาดเสียวของชาวบ้านที่พากันเข้ามามุงดูเป็นจำนวนมาก

จากการสอบถาม นายบุญเชิด พรหมศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.หนองจอก อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ทราบว่า สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามคลองของสำนักงานชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา ที่สร้างไว้เพื่อเชื่อมต่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ ม.7-9 ได้ข้ามไปมาหาสู่กัน โดยเดิมเป็นสะพานไม้ ต่อมา ในปี 2526 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เข้ามาพัฒนาให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบมาตรฐาน และได้ออกแบบให้พื้นด้านบนเป็นตะแกรงเหล็กที่สามารถยกเปิดให้เรือขุดลอกคลองของกรมชลประทานลอดผ่านได้

แต่หลังจากสะพานแห่งนี้ได้มีการโอนย้ายความรับผิดชอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ไปให้แก่สำนักงานทางหลวงชนบทฉะเชิงเทรา กลับพบว่า พื้นสะพานเดิมซึ่งเป็นตะแกรงเหล็กมีสภาพผุกร่อน และได้มีการซ่อมแซมให้เป็นพื้นคอนกรีตที่ด้านบนทดแทนด้วยการเสริมตอม่อ และวางแผ่นคอนกรีตใหม่ ก่อนเทพื้นถนน และราดยางทับ โดยใช้งานได้อีกประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา กระทั่งพังถล่มลงเมื่อช่วงเย็นวานนี้

“โชคดีมากที่ขณะสะพานพังถล่มไม่มีรถยนต์สัญจรผ่านไปมา ไม่เช่นนั้นอาจตกลงไปในลำคลองได้ แต่ช่วงเกิดเหตุก็ยังมีรถจักรยานยนต์ของขาวบ้านที่ไม่รู้ว่าสะพานพังถล่มลงไปแล้วขับผ่านมา จึงทำให้ตกลงไปในลำคลอง แต่ก็โชคดีที่คนขับไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก”

นายบุญเชิด ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่สะพานแห่งนี้พังถล่มลงมาน่าจะมาจากการที่มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งผ่านเส้นทางอยู่เป็นจำนวนมากทั้งกลางวัน กลางคืน เนื่องจากเส้นทางสายนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางสายหลักในการขนส่งสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีหลาย 10 แห่ง

ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อเข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ได้อีก จึงมีทั้งรถบรรทุกสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม และรถบัสรับส่งคนงานใช้เส้นทางเป็นประจำ โดยหลังสะพานพังถล่มการเดินทางของชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนการขนส่งพืชผลทางการเกษตรก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องใช้เส้นทางอ้อมไปไกลอีกไกลนับ 10 กิโลเมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น