ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ผอ.สพม.31” โคราชยันโรงเรียนดูแลนักเรียนเหยื่อครูปาแก้วโดนปากเบี้ยวตั้งแต่แรกไม่เคยทอดทิ้ง แต่เหตุเวลาผ่านมาเป็นเดือนเพราะยังรักษาตัวและเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายกันไม่ได้ ชี้กำชับผู้บริหารโรงเรียนมาตลอดในการทำงานของครูให้ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง พร้อมสรุปผลสอบข้อเท็จจริงพรุ่งนี้ เปิดบันทึกเจรจา 3 รอบล่มไม่เป็นท่า ปมเรียกค่าทำขวัญ 3 แสน ชนวนเหตุบานปลายกลายเป็นข่าวใหญ่
วันนี้ (15 ก.ย.) นายชูเกียรติ วิเศษเสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต.31 (สพม.31) นครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณี นายไพฑูรย์ แกลงกระโทก อายุ 58 ปี ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนโชคชัยสามัคคี อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ขว้างแก้วกาแฟเมลามีนแบบหนาใส่กระจกหน้าพักครูกระเด็นไปโดน น.ส.นฤดี จอดสันเทียะ หรือน้องทราย อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/10 ขณะเข้าเรียนวิชาเซปักตะกร้อ เป็นเหตุให้ น.ส.นฤดีได้รับบาดเจ็บปากเบี้ยว เสียโฉม และตาปิดไม่สนิท นั้น
ขณะนี้คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ที่ทาง สพม.31 (นครราชสีมา) แต่งตั้งขึ้นกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริง คาดว่าพรุ่งนี้ (16 ก.ย.) จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดส่งรายงานเข้ามาเพราะไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด เบื้องต้นได้รับรายงานว่าทางโรงเรียนเองโดย ว่าที่ ร.ต.นิพนธ์ ภักดีแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนโชคชัยสามัคคี ไม่เคยทอดทิ้งเด็ก ดูแลเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการได้ใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการปกครองเข้าไปด้วย
ขณะเดียวกันทาง สพม.31 (นครราชสีมา) ได้ส่งนักจิตวิทยาเข้าไปช่วยเหลือในการดูแลเยียวยาจิตใจของเด็ก ซึ่งการรักษาดีขึ้นตามลำดับ แต่ต้องใช้เวลา 3-6 เดือนตามที่แพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาระบุไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งตรงกับความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลยันฮีที่เด็กไปรักษาตัวครั้งล่าสุดด้วย
นายชูเกียรติกล่าวต่อว่า กรณีการขว้างแก้วใส่เด็กนั้น จากการสืบสวนเบื้องต้นทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วโมงการเรียนการสอนวิชาเซปักตะกร้อ โดยเด็กในห้องเรียนระบุตรงกันว่าครูโยนแก้วใส่ผนังโดยโยนไปโดนกระจกหน้าต่างของห้องพักครูและกระเด็นโดนบริเวณใบหน้าเด็ก ไม่ใช่การโยนหรือขว้างใส่โดยตรง เพราะหากขว้างโดยตรงคงมีแผลแตกเลือดไหล แต่นี่ไม่มีแผลใดๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเกิดจากโทสะชั่ววูบที่เห็นเด็กไม่อยู่ในระเบียบ และต้องการปรามเท่านั้น แต่นายไพฑูรย์เองยอมรับผิดต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป และยืนยันว่าไม่มีเจตนาโยนให้โดนเด็กเพียงแต่ต้องการปรามจริงๆ
“นอกจากนี้ ภายหลังเกิดเหตุทางนายไพฑูรย์ก็รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล และทางโรงเรียนโดยผู้อำนวยการ ได้เดินทางไปเยี่ยมอาการป่วยของเด็กตลอด พร้อมจัดรถโรงเรียนรับ-ส่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยเยียวยาจิตใจเด็กด้วย ไม่เคยปัดความรับผิดชอบ หรือนิ่งนอนใจเลย” นายชูเกียรติกล่าว
นายชูเกียรติกล่าวว่า ทาง สพม.31 (นครราชสีมา) เองได้กำชับผู้บริหารโรงเรียนมาโดยตลอดเรื่องการทำงานของครูให้ดูแลเด็ก เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง และไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งภาพรวมที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ใหญ่โต หรือการทำร้ายร่างกายรุนแรงแก่เด็กเกิดขึ้นแต่อย่างใด และเชื่อว่าโดยจิตสำนึกของครูน่าจะมีจิตวิญญาณในการดูแลอบรมเด็กอยู่แล้ว เพราะทุกคนล้วนอยากให้ลูกศิษย์ตัวเองได้ดี เป็นคนดี
ส่วนกรณีครูโยนแก้วใส่เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บกรณีนี้ที่ถูกมองว่าเป็นการปกปิดเรื่องปล่อยมานานถึง 1 เดือนนั้น ไม่ได้เป็นการปล่อยปละละเลย แต่เป็นเพราะอยู่ระหว่างการรักษาและการเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายกันอยู่ แต่มีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่แพง จนกลายเป็นปัญหาที่สองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ซึ่งอาจจะมากเกินไปสำหรับอาชีพครู เพราะรายได้เงินเดือนครูก็ไม่ได้มากมายอะไร และแพทย์เองก็ไม่ได้ระบุว่าจะต้องใช้เงินรักษาสูงถึง 3 แสนบาทด้วย จึงกลายเป็นเรื่องราวและข่าวใหญ่โตอยู่ในขณะนี้
เปิดบันทึกเจรจา 3 รอบล่ม ปมเรียก 3 แสนชนวนเหตุบานปลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการเจรจาตกลงเรื่องค่าสินไหมทดแทนและค่าทำขวัญระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น จากการตรวจสอบเอกสารบันทึกการตกลงเจรจาพบว่า ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันที่ สภ.โชคชัย จ.นครราชสีมา มาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะปมปัญหาหลัก คือ การเรียกค่าทำขวัญจำนวน 300,000 บาทและค่ารักษาพยาบาลทั้งที่ผ่านมาและจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเปิดเจรจาครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 ฝ่ายผู้ปกครองและผู้เสียหายได้เรียกร้องค่าทำขวัญจำนวน 300,000 บาท พร้อมให้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดจนกว่าเด็กจะหายเป็นปกติ โดยเด็กมีความประสงค์จะรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา และไม่ประสงค์ให้ทางโรงเรียนรับ-ส่งในการเดินทางไปรักษา แต่จะเดินทางไปเองโดยขอค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งตามความเป็นจริง
ทางฝ่ายนายไพฑูรย์รับว่าได้ขว้างแก้วกาแฟจริงแต่ไม่มีเจตนาขว้างใส่ผู้เสียหาย แต่ทางนายไพฑูรย์และทางโรงเรียนจะรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมขอรับข้อเสนอไปพิจารณาและนัดเจรจาตกลงอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย. 2559
สำหรับการเจราจาครั้งที่ 2 วันที่ 2 ก.ย. 2559 ทางฝ่ายนายไพฑูรย์ และทางโรงเรียนโชคชัยสามัคคีรับว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับเด็กจนกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนค่าทำขวัญจะพิจารณาจ่ายหลังจากที่แพทย์มีคำวินิจฉัยแล้ว
ขณะที่ฝ่ายผู้ปกครองและผู้เสียหายมีข้อเสนอให้เลือกรับผิดชอบค่าทำขวัญและค่ารักษาพยาบาลเป็น 2 ข้อ คือ 1. ให้ทางนายไพฑูรย์และโรงเรียนรับผิดชอบค่าทำขวัญและค่ารักษาพยาบาลรวม 290,000 บาท โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในอนาคต และไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่ฝ่ายนายไพฑูรย์ และโรงเรียนได้จ่ายไปแล้ว และ 2. ให้รับผิดชอบค่าทำขวัญเป็นจำนวน 180,000 บาท และให้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจนกว่าจะหายปกติ และไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปแล้ว
ฝ่ายนายไพฑูรย์และทางโรงเรียนรับข้อเสนอและจะมาให้คำตอบ 12 ก.ย. จึงให้มีการนัดเจรจาครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 ก.ย. 2559
ล่าสุดการเจรจาครั้งที่ 3 วันที่ 12 ก.ย. 25559 ครั้งนี้นายไพฑูรย์ไม่ได้เดินทางไปเจรจาด้วยตัวเองเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา แต่ได้ส่งภรรยามาแทน โดยการเจรจาครั้งนี้ฝ่ายนายไพฑูรย์ และทางโรงเรียนได้เสนอว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าทำขวัญ เป็นเงิน 80,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายและรักษาพยาบาลที่ผ่านมาจำนวน 40,099 บาท รวมเป็นเงิน 120,099 บาท ไม่รวมและไม่รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จากนั้นเสนอเพิ่มจ่ายเป็นเงิน 100,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่ผ่านมา จำนวน 40,099 บาท รวมเป็นเงิน 140,099 บาท ไม่รวมและไม่รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทางฝ่ายผู้ปกครองเด็กและผู้เสียหายไม่รับข้อเสนอดังกล่าว แต่เสนอให้ทางฝ่ายนายไพฑูรย์และทางโรงเรียนจ่ายค่าทำขวัญและค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท โดยไม่รวมเงินที่จ่ายไปแล้ว และให้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจนกว่าเด็กจะหายเป็นปกติ พร้อมให้ยกเลิกข้อตกลงในการเจรจาวันที่ 2 ก.ย. 2559
แต่ฝ่ายนายไพฑูรย์และทางโรงเรียนไม่รับตามที่เสนอ ซึ่งคู่กรณีตกลงกันไม่ได้และไม่ประสงค์จะเจรจากันอีก
ทางฝ่ายผู้ปกครองจึงนำเด็กผู้เสียหายเข้าร้องเรียนมูลนิธิปวีณา และเป็นข่าวใหญ่โต ตามสื่อต่างๆ อยู่ในขณะนี้