xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊แหวว” เจ้าของโรงปลาร้าชัยนาท ปัดผลิตปลาร้ามีซากงูปะปน สสจ.ลงตรวจแหล่งผลิตพบยังไม่ได้ขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - “เจ๊แหวว” เจ้าของโรงปลาร้าชื่อดังในชัยนาท ปัดไม่ได้ผลิต “ปลาร้ามีซากงู” ปะปน หลังมีผู้โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กพบเนื้องูในถุงปลาร้าที่ซื้อมาจากห้างดังในภูเก็ต จนมีการตรวจสอบพบว่าปลาร้าดังกล่าวมาจาก “เจ๊แหวว” พร้อมยืนยันก่อนบรรจุลงปี๊บเก็บสิ่งปะปนออกก่อนเสมอ ขณะที่ สสจ.ชัยนาท ลงตรวจสอบแหล่งผลิตพบยังไม่ได้ขออนุญาต และกระบวนผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ



วันนี้ (14 ก.ย.) จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้โพสต์ภาพว่า พบเนื้องูในถุงปลาร้าที่ซื้อมาจากห้างดังในจังหวัดภูเก็ต จนได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ต่อมา ได้มีการตรวจสอบพบว่าปลาร้าดังกล่าวรับมาจากตลาดไท จังหวัดปทุมธานี โดยเจ้าของร้านที่ตลาดไทให้ข้อมูลว่าได้รับซื้อปลาร้ามาจากเจ๊แหวว ที่จังหวัดชัยนาท

ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่โรงปลาร้าเจ๊แหวว อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยได้พบกับ น.ส.จันทร ไหลงาม หรือเจ๊แหวว อายุ 50 ปี และนางกฤษตรา สรณ์ธดานิช อายุ 39 ปี สองพี่น้อง เจ้าของโรงปลาร้าเจ๊แหวว กล่าวว่า ครอบครัวของตนผลิตปลาร้าขายมานาน 30 ปี ไม่เคยพบว่ามีงู หรือสิ่งอื่นปนไปกับปลาร้าที่ส่งขาย ซึ่งการถูกระบุว่ารับซื้อมาจากที่นี่แล้วมีซากงูปนอยู่ ก็ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะขั้นตอนการผลิตจะรับซื้อปลาที่ตัดหัวตัดหางเคล้าเกลือแล้วมาจากหลายแห่ง ทั้งที่ จ.เพชรบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.ราชบุรี ตลาดอรัญประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน

โดยก่อนจะนำปลาหมักลงในโอ่ง และในถังพลาสติกจะมีการทำความสะอาดก่อน ซึ่งปลาร้าที่หมักในโอ่ง และในถังพลาสติกจะมีฝากระแตะ หรือฝาไม้ไผ่สานปิดไว้แล้วทับด้วยหินอีกชั้น ซึ่งเมื่อครบกำหนดหมัก ก็จะนำออกมาใส่อ่างขนาดใหญ่ ผสมข้าวคั่วก่อนบรรจุลงถุงพลาสติกใส่ปี๊บส่งขาย ซึ่งในขั้นตอนการผสมข้าวคั่วก่อนบรรจุลงปี๊บ หากพบสิ่งปลอมปนในเนื้อปลาก็จะเก็บออกก่อน คงไม่ปล่อยให้มีของไม่ดีปะปนไปกับปลาร้า ทำให้ต้องเสียชื่อเสียง

ด้าน นพ.พูลสิทธิ์ ศีติสาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงตรวจสอบสถานที่ผลิตปลาร้าของเจ๊แหวว พบว่า สถานที่ผลิตแห่งนี้ยังไม่ได้ขออนุญาต และกระบวนผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) เป็นการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่มีฉลาก และไม่แสดงฉลากที่ถูกต้องตามเกณฑ์ มีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท จึงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย และแนะนำให้ปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Primary GMP และให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดชัยนาท มีสถานที่ผลิตปลาร้าหลายแห่ง ส่งขายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตามจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตในครัวเรือน จึงไม่ได้มีการขออนุญาตการผลิตอย่างถูกต้อง




กำลังโหลดความคิดเห็น