ราชบุรี - อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายอำเภอโพธาราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร และส่วนเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบบ่อลูกรังร้าง ในพื้นที่ตำบลหนองกวาง หลังโรงงานน้ำตาล นำน้ำเสียมาทิ้งส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน พบเป็นน้ำสุดท้ายจากขั้นตอนการผลิตเอทานอลในโรงงานน้ำตาล แต่ยังมีคุณสมบัติที่ชาวไร่สามารถนำมารดต้นอ้อยได้
วันนี้ (7 ก.ย.) นายธรรมนูญ แก้วคำ นายอำเภอโพธาราม จ.ราชบุรี นายธัญญารัตน์ พรหมสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 เจ้าหน้าที่ อบต.หนองกวาง กำนัน ผู้ใหญ่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.หนองกวาง อ.โพธาราม และนายเชษฐพร บุญญชยันต์ ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัทกลุ่มน้ำตาลราชบุรี ได้เดินทางเข้าตรวจสอบบ่อลูกรังร้าง ในหมู่ 2 ต.หนองกวาง หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีโรงงานแอบนำน้ำเสียจากโรงงานมาทิ้งในบ่อลูกรังร้าง จำนวน 4 บ่อ ซึ่งมีบ่อที่ทิ้งไว้จนเต็มแล้ว จำนวน 2 บ่อ ส่วนอีก 2 บ่อกำลังมีการทิ้งกันอยู่ ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบวันนี้พบว่า ไม่มีรถนำน้ำเสียมาทิ้งแล้ว แต่ยังมีน้ำเสีย และคราบน้ำเสียอยู่ในบ่อ
นายธัญญารัตน์ พรหมสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เรื่องน้ำเสียในบ่อลูกรังนั้นได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นน้ำสุดท้ายจากขั้นตอนการผลิตเอทานอลในโรงงานน้ำตาล แต่ยังมีคุณสมบัติที่ชาวไร่สามารถนำมารดต้นอ้อยได้ ทางโรงงานจึงได้ทำเรื่องขออนุญาตมาทิ้งที่นี่เพราะอยู่ห่างไกลชุมชน และเป็นจุดพักที่จะสามารถช่วยลดความเข้มข้นของน้ำเสียตัวนี้ได้เมื่อนำมาพักไว้บ่อ
จากนั้นชาวไร่ก็จะมาทำการดูดขึ้นไป แต่ถ้าพบว่าส่งกลิ่นเหม็นจนไปรบกวนชาวบ้านก็จะต้องสั่งให้ทางโรงงานได้ทำการหยุดนำมาทิ้ง และตรวจสอบคุณภาพของน้ำว่า มีสารอะไรบ้าง รวมทั้งความเข้มข้นของน้ำด้วย
นางจีราพร วงศ์ษาโรจน์ เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในหมู่ 2 และนำน้ำเสียในบ่อลูกรังไปรดต้นอ้อย บอกว่า ที่ผ่านมา ได้นำน้ำเสียในบ่อลูกรังไปรดพื้นที่ปลูกอ้อยจากนั้นก็จะทำการไถกลบ ซึ่งสามารถทำให้ด้วงหนวดยาวซึ่งเป็นศรัตรูของอ้อยตาย และทำให้ต้นอ้อยงอกงามดี ซึ่งจะใช้แค่ในช่วงก่อนที่จะปลูกอ้อย และน้ำเสียเหล่านี้ก็ไม่ได้นำมาทิ้งตลอด แต่จะนำมาทิ้งแค่ช่วงหน้าฝนเพราะน้ำในโรงงานล้นจึงได้นำมาทิ้งให้เกษตรกรได้ใช้ฟรี เพราะถ้าไปซื้อก็จะมีราคาแพง
นายเชษฐพร บุญญชยันต์ ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์บริษัทกลุ่มน้ำตาลราชบุรี กล่าวว่า ได้รับการร้องขอจากเกษตรกร จึงได้นำน้ำเหล่านี้มาทิ้ง โดยน้ำส่วนนี้เป็นน้ำกากส่าสุดท้ายของการผลิตเอทานอล ซึ่งยังมีธาตุอาหารที่ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ และพื้นที่ที่ทิ้งนั้นก็เป็นพื้นที่ของตนเอง แต่ถ้ามีชาวบ้านมาร้องเรียนว่ามีกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านก็จะสั่งหยุดไม่ให้นำมาทิ้งอีก พร้อมทั้งจะต้องวางแผนปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและขนถ่าย แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ซึ่งจากนี้ไปก็จะเข้าไปเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย