กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เตรียมถกโรงกลั่นน้ำมันอีกระลอก หวังปรับโครงสร้างชนิดน้ำมันใหม่โดยเฉพาะกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่มี E10 แยกเป็นโซฮอล์ 91-95 E20 E85 ให้เหลือเป็น E10 E20 E85 ตัดปัญหาสับสน พร้อมให้ยืดหยุ่นสัดส่วนผสมเอทานอลเหมือนดีเซลที่ผสมบี 100 ช่วงราคาแพง ขณะที่การลงทุนเชื่อมท่อแทปไลน์ล่าสุดไฟเขียวเอสซีกรุ๊ป จ่อลงนาม 31 ส.ค.นี้
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้จะหารือกับโรงกลั่นน้ำมันถึงแนวทางการปรับโครงสร้างชนิดหรือประเภทน้ำมันของประเทศใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเบนซินที่ปัจจุบันจะมีการนำเอทานอลมาผสมเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ แยกเป็น E10 คือ แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ E20 และ แก๊สโซฮอล์ E85 โดยจะปรับเหลือเป็น E10 E20 และ E85 พร้อมยืดหยุ่นสัดส่วนการผสมเอทานอลได้เช่นเดียวกับดีเซลปัจจุบันที่กำหนดผสมไบโอดีเซล (บี 100) ไม่เกิน 7% ซึ่งปัจจุบันเป็นบี 5
“การปรับโครงสร้างชนิดน้ำมันครั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้สับสนว่าจะเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เมื่อไหร่ แล้วที่สำคัญขณะนี้ต้องยอมรับว่าราคาเนื้อน้ำมันเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 บาทต่อลิตรเท่านั้น แต่เมื่อนำเอทานอลที่ราคาสูง 22-23 บาทต่อลิตรมาผสมก็ทำให้ราคาแพง จุดนี้เราก็จะสามารถยืดหยุ่นสัดส่วนเช่นเดียวกับดีเซลเมื่อเวลาที่ราคาเอทานอลแพงมากๆ หรือมีปัญหา ก็ต้องหารือกับโรงกลั่นน้ำมันอีกครั้งในรายละเอียด” นายวิฑูรย์กล่าว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีเพราะก็จะทำให้เกิดการยืดหยุ่นการผสมเอทานอลในเบนซิน เพราะการผสมปัจจุบันถ้าจะลดสัดส่วนจาก E10 เป็น E8 ก็ทำได้อยู่แล้ว และนโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อเอทานอล เพราะที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการใช้น้ำมันหากมากขึ้นการใช้เอทานอลก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยมากกว่า
แหล่งข่าวกล่าวว่า วิธีดังกล่าวจะต้องมาตกลงในเรื่องของสเปกน้ำมันใหม่ว่าจะกำหนดออกเทนของน้ำมันพื้นฐานอยู่ระดับใด เช่นอยู่ระหว่าง 91-95 หรือ 92-94 ก็ได้เพราะรถส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกเทนสูงถึง 95 ซึ่งแนวคิดนี้คาดว่าจะเป็นการเข้ามาแก้ไขปัญหาโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งที่ผลิตน้ำมันเบนซินพื้นฐานออกเทน 91 ได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ตามแผนที่รัฐกำหนดไว้ภายในปี 2561 ต้องมีการนำเข้าและโรงกลั่นก็ต้องหันมาลงทุนเพื่อผลิตเบนซิน 95 รองรับมากขึ้นอีก