กรมปศุสัตว์ เดินหน้ารณรงค์ผู้ค้าในตลาดสดแช่เย็นเนื้อสัตว์ที่รอการจำหน่ายเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายใต้โครงการตราสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ตั้งเป้าขยายจำนวนร้านค้าในโครงการให้ได้ 3,000 ร้าน ภายในสิ้นปีนี้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯ ได้มีการส่งเสริมโครงการ “ปศุสัตว์ OK” ในปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จากจุดจำหน่ายสินค้าจนถึงฟาร์ม เพื่อยกระดับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ทั้งในตลาดสด ร้าน Modern trade และ Shop จำหน่ายสินค้า ให้มีสุขลักษณะที่ดี นำไปสู่ความปลอดภัยในอาหารสู่ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจและส่งเสริมให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคนั้น โครงการฯประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีร้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,400 ร้าน และกำลังจะขยายให้ครบ 3,000 ร้าน ภายในสิ้นปีนี้
“ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองภายใต้สัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” มีการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีความความปลอดภัยสำหรับการบริโภค นอกจากนี้กรมฯ ยังส่งเสริมให้ร้านค้าเนื้อสัตว์มีตู้แช่เย็น หรือจัดเก็บสินค้าสำหรับรอจำหน่ายในตู้ควบคุมความเย็น เพื่อคงคุณภาพเนื้อสัตว์ ป้องกันการปนเปื้อน ช่วยยกระดับความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภค” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
สำหรับโครงการตราสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” นั้นเป็นการขยายผลต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการเขียงสะอาดที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบร้านค้าเนื้อสัตว์ในตลาดสดให้ใช้เขียงสะอาด รวมทั้งพ่อค้า-แม่ค้า คำนึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า หลักเกณฑ์การตรวจประเมินจุดจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสัญญลักษณ์ดังกล่าว ผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเข้าสู่อาหาร เช่น สถานที่จำหน่ายต้องมีโครงสร้างแข็งแรง สะอาด ที่จัดวางเนื้อสัตว์มีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ต้องจัดวางเนื้อสัตว์แยกกับเครื่องในสัตว์ ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์การขาย อาทิ เขียง มีด อย่างสม่ำเสมอ และผู้จำหน่ายต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาด และมีสุขลักษณะที่ดี
ที่สำคัญสินค้าเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่าย ต้องมีต้นทางกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จากสัตว์ที่เลี้ยงในระบบฟาร์มที่ได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) จากกรมปศุสัตว์ และต้องมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาต มีแบบตอบรับแจ้งการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์กำกับ และมีการจดบันทึกสัตว์ที่เข้าฆ่าและซากสัตว์ที่มีการจำหน่ายออก เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถทำได้จริง และคณะกรรมการตรวจประเมินสามารถตรวจสอบได้ในระยะเวลาย้อนหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการตรวจ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับ จากสถานที่จำหน่ายกลับไปยังโรงฆ่าสัตว์ และตรวจสอบย้อนกลับจากโรงฆ่าสัตว์ไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ หรือสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากสถานที่จำหน่ายกลับไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ และการเก็บตัวอย่างตรวจสอบประกอบการตรวจประเมิน เช่น ต้องไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง ไม่มีฮอร์โมน สารเร่งเนื้อแดง หรือเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรครุ่นแรงเป็นต้น
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำในตอนท้ายว่า ลักษณะเนื้อสุกรที่ดีต้องสีสันไม่แดงสดเกินไป ชิ้นเนื้อควรมีสีชมพูอ่อน ไม่แห้งแข็ง ส่วนเนื้อไก่สดที่ดีต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมากหรือไม่ซีดเกินไป โดยเนื้อสุกรและเนื้อไก่ที่เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้แช่เย็นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ก็จะช่วยให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น