xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ร่าง รธน.ฉบับลงประชามติยังคาใจหลายเรื่อง แต่เป็นอิสระของประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ภาควิชาสังคมศาสตร์ และภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังนามจันทร์ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดการเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญ พลเมือง และการพัฒนา” เชิญ อ.จุฬาฯ-ม.เกษตร บรรยายประวัติการปกครองและจับประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้ประชาชนลงมติ ยังคาใจในหลายเรื่อง แต่เป็นอิสระของประชาชน ด้านคณบดีคณะมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ชี้การประชาสัมพันธ์ลงประชามติ 7 ส.ค.ไม่ชัดเจน และประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเพื่อเรียกคืนอำนาจจาก คสช.หลังทำผลงานล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง

วันนี้ (27 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้อง อษ.1202 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม ภาควิชาสังคมศาสตร์ และภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังนามจันทร์ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้จัดการเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญ พลเมือง และการพัฒนา” โดยมีอาจารย์คงเดช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ และเชิญ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ด็อกเตอร์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ซึ่งมีอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ประธานเครือข่ายเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและคณบดีคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมในการเสวนา โดยมีนักวิชาการ และนักศึกษาร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

การเสวนาเริ่มโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเกี่ยวกับการประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ และมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองหลายครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ส่วนอาจารย์ด็อกเตอร์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำหัวข้อของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระในหลายจุดซึ่งก็แล้วแต่ประชาชนว่าจะใช้สิทธิในการลงประชามติไปในทิศทางใด แต่ประเด็นส่วนตัวที่มีความสงสัยก็มีหลายเรื่อง เช่น คำถามที่มีคนสงสัยกันมากว่า จะมีการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังมีการร่างที่ตนเองยังคงมีความสงสัยถึงกรณีดังกล่าว และยังมีอีกหลายมาตราที่มีการตัด เพิ่มบทบาท และหน้าที่ รวมถึงสิทธิบทบาทของประชาชนในหลายจุดเช่นกัน ซึ่งวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ก็จะเป็นกระบวนการที่จะมีการลงประชามติผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องจับตาดูความต้องการของประชาชน

ด้าน อาจารย์นาตยา อยู่คง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในการจัดการเสวนาครั้งนี้ได้มีการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และแสดงให้เห็นบทบาทหน้าที่ของประชาชน ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาจึงต้องให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้อง โดยนำมาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 และไม่มีการชี้นำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเชื่อมั่นว่าประชาชนของเรามีศักยภาพ และมีความคิดเป็นของตัวเอง โดยเราจะวางตัวเป็นกลางในการให้ความรู้

ส่วน อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ประธานเครือข่ายเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง อาจารย์คณะสังคมวิทยา และคณบดีคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานในการเสวนาเป็นการประสานงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาคส่วน ซึ่งมีการรวมตัวกันมาได้ 1 ปีเศษ ซึ่งความรู้ของประชาชนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญมีจำกัด โดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีการตอบรับทั่วทุกภาค โดยวันที่ 2 สิงหาคมนี้ จะมีการจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในหัวข้อการออกเสียงประชามติที่เสรีและเป็นธรรม คาดว่าจะมีคนเข้ามาร่วมเสนา และรับฟังเป็นจำนวนมาก

อาจารย์อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาช่องทางในการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้การกระจายข้อมูลที่จำจัด ซ้ำร้ายยังมีการเสนอแต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญ ในคำถาม หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีนั้นแทบจะทำไม่ได้เลย กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จึงได้รับภาระมาทำเรื่องนี้ เพราะคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้เลยว่าจะลงไปประชามตินั้นคือเรื่องอะไร ซึ่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นการปักหมุดที่ทางประชาธิปไตยที่ชัดเจนเพราะมีการรวมตัวจาก 43 องค์กร และเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีรัฐประหารตั้งแต่ปี 57

“วันนี้ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ จะรับหรือไม่รับนั้นถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญแล้ว แต่ทางกลุ่มยังคงห่วง และคิดว่าควรจะรวมกันเพื่อเสนอให้ประเทศไทยไปในทางไหน หลังจากรัฐประหาร เพราะ คสช.ไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือทำให้สำเร็จตามที่ได้มีการประกาศเอาไว้ได้สักข้อ การคลี่คลายความขัดแย้งก็แก้ไขไม่ได้ กลับทำให้เกิดความรุนแรง และหยั่งลงไปในรากลึก หรือจะเป็นเศรษฐกิจ การปฏิรูปว่าให้รอหลังการเลือกตั้งจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ไปถึงไหน ถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณาตัวเอง โดยประชาชนควรจะอาศัยวันที่ 7 สิงหาคมนี้ออกมาใช้สิทธิว่าไม่ให้โอกาส และประชาชนอยากทวงสิทธิการกำหนดชะตากรรม และทวงสิทธิคืนจาก คสช.” อาจารย์อนุสรณ์ กล่าวปิดท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น