xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา จัดสัมมนาทางวิชาการระดับชาติ ชูงานวิจัย “ทิศทางเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง”(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา จัดงานสัมมนา และเสนอผลงานทางวิชาการระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “งานสัมมนาและสนอผลงานทางวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 8” โดยมีสถาบันการศึกษาส่งผลงานทางวิชาการเข้านำเสนอจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานวิจัยเรื่อง “ทิศทางเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง” ที่ขณะนี้ถึงมือนายกรัฐมนตรี และสภาพัฒน์แล้ว



วันนี้ (9 ก.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ด็อกเตอร์บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและเสนอผลงานทางวิชาการ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2559 ภายใต้หัวข้อ “งานสัมมนาและสนอผลงานทางวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN+C+I Symposium on Business Management Research)” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ณ ห้อง Auditorium วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

โดยมี นายไพรินทร์ ทองภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านงานวิจัยระหว่างนักวิชาการ บุคลากรสายวิชาการ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทั้งในสถานบันเดียวกัน และต่างสถาบัน โดยมีสถาบันการศึกษาที่ส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชมมงคลกรุงเทพมหา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

นอกจากนั้น ยังมีการจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง” โดย พล.ต.สิงห์ทอง หมีทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 และการนำเสนอผลงานทางวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัย

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยก้าวสู่เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่พุทธศักราช 2558 ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นคง เข้มแข็งของกลุ่มสมาชิกอาเซียนใน 10 ประเทศ และร่วมประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยของคณาจารย์ นิสิต และนักวิจัยชาวต่างชาติอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงการดำเนินงานที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไปได้

การจัดสัมมนาระดับชาติในครั้งนี้ ก็เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยบทความวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนทัศนคติข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของการศึกษาวิจัยด้านการบริหารธุรกิจทุกสาขาวิชาระดับระหว่างนิสิตระดับปริญญาโท ปริญญาเอก อาจารย์ นักวิจัยชาวไทย และต่างชาติ อันเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการแก่สถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในประเทศไทย สอดคล้องต่อพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้นักวิชาการและผู้สนใจทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้รับองค์ความรู้สำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมการส่งออกการลงทุนในประเทศ และการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา จัดอยู่ในกลุ่มผลิตบัณฑิตและวิจัยที่มีพันธกิจหลักมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย สร้างความรู้ปัญญา และบริหารจัดการให้เกิดคุณค่าต่อการพัฒนาสังคม มุ่งมั่น สรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเชิงบูรณาการในด้านต่างๆ ให้สอดคล้อง และตอบรับต่อความต้องการของกลุ่มประเทศอาเซียน สังคม และชุมชนอย่างแท้จริง

ขณะที่ พล.ต.สิงห์ทอง หมีทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง” ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น มทบ.14 นักวิจัยจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง โดย นายดำรง เภตรา นายกเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้ร่วมกันผลักดันให้เกาะสีชัง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ของประเทศ

โดยได้นำเสนอผลงานวิจัยถึงศักยภาพ ความพร้อม สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประเทศจะได้รับจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง รวมทั้งการสร้างรายได้กว่า 4 พันล้านบาทให้เกิดขึ้นในพื้นที่จากการพัฒนาบริเวณเกาะสีชัง และหมู่เกาะโดยรอบให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการจำหน่ายสินค้าโอทอป รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากศักยภาพของพื้นที่

และยังจะทำให้จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางทะเล และเส้นทางผ่านการเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาคอินโดจีนได้อย่างแท้จริง และยังจะทำให้มีเรือสินค้าเข้ามาจอดทอดสมอเพื่อรอการขนถ่ายสินค้าส่งออก และนำเข้าได้ปีละกว่า 1.2 หมื่นลำ จากลักษณะทางกายภาพภูมิประเทศที่มีความพร้อมด้านลอจิสติกส์ทั้งน้ำ และทางบก รวมทั้งทางอากาศที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน

โดยขณะนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ต่างๆ แล้ว และเชื่อว่าผลงานวิจัยจากนักวิชาการที่เกิดขึ้นจะนำสู่การพัฒนาได้จริง ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 20 ปี




กำลังโหลดความคิดเห็น