ศูนย์ข่าวศรีราชา - วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา ผนึกกำลัง มทบ.14 และเทศบาล ต.เกาะสีชัง ดันงานวิจัย “แผนพัฒนาเกาะสีชังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ถึงมือนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาพัฒน์ได้สำเร็จ ชี้หากเกิดขึ้นจริง จ.ชลบุรี จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าในภูมิภาคอินโดจีน และศูนย์รวมเรือเดินสมุทรจากทั่วโลก ทั้งยังจะดึงเงินตราจากการใช้จ่ายของลูกเรือจากการเป็นเมืองปลอดภาษีได่ไม่น้อยกว่า 4.3 พันล้านบาทต่อปี เผยขณะนี้เหลือเพียงการตัดสินใจของนายกฯ และสภาพัฒน์
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.สิงห์ทอง หมีทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 ได้ออกมาเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่าง มทบ.14 นักวิชาการจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ในการผลักดันให้เกาะสีชังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ของประเทศว่า นอกจากจะร่วมกันนำเสนอผลงานของวิจัยของนักวิชาการจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงศักยภาพ ความพร้อม รวมทั้งสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 4.3 พันล้านบาทต่อปี ต่อนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สำเร็จแล้ว
งานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกาะสีชังจะได้รับจากการพัฒนาพื้นที่บนเกาะสีชัง และหมู่เกาะโดยรอบที่จะสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการจำหน่ายสินค้าโอทอป และยังจะทำให้จังหวัดชลบุรี กลายเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางทะเล และเส้นทางผ่านของการเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาคอินโดจีน จากการมีเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามาจอดทอดสมอเพื่อรอการขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออกและนำเข้าปีละกว่า 1.2 หมื่นลำ จากลักษณะทางกายภาพภูมิประเทศที่มีความพร้อมด้านลอจิสติกส์ ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินอู่ตะเภา และสนามบินสุวรรณภูมิ
ขณะนี้ผลงานวิจัยได้นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้ต่างๆ แล้ว และเชื่อว่าผลงานวิจัยจะนำสู่การพัฒนาได้จริงภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 20 ปี และเรามั่นใจว่า จะได้รับการสนองตอบ เพราะทุกคนกำลังให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงมติจากประชาชน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ และประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล”
พล.ต.สิงห์ทอง ยังกล่าวอีกว่า เกาะสีชัง เป็นพื้นที่ที่มีการเชื่อมโยงในการขนถ่ายสินค้ามาเป็นเวลานาน และในแต่ละปีจะมีเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าสนใจว่าหากแผนพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะทำให้โอกาสที่เคยเสียไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมากลับมาทำให้ประชาชนมีฐานะที่ดีขึ้น และ SMEs ที่กู้เงินมาพัฒนาสินค้าจะสามารถหาแหล่งกระจายสินค้าได้ ส่วนลูกเรือต่างๆ ที่เดินทางมาพร้อมเรือสินค้าจะได้มีที่จับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากการได้รับการยกเว้นเรื่องภาษี ที่จะสามารถสร้างรายได้เข้าพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4.3 พันล้านบาทต่อปี
“จึงเป็นหน้าที่ของกองทัพ ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ช่วยผลักดันเรื่องต่างๆ ที่จังหวัดทำขึ้น ไม่ใช่เฉพาะด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชนก็เป็นเรื่องที่กองทัพต้องเข้ามาช่วยดูแล รวมถึงการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ และจะต้องร่วมกับสถาบันต่างๆ ในจังหวัดในทุกมิติเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดีด้วย” บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 กล่าว
ขณะที่ นายดำรง เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง เผยถึงความพร้อมของเกาะสีชัง ในการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว จากศักยภาพของเกาะสีชังที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ และในวันนี้เมื่อหน่วยงานทหารเข้ามาช่วยผลักดันก็เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งบริเวณเกาะสีชัง ถือเป็นพื้นที่สำหรับสินค้าเทกอง จึงเชื่อว่าหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเรือสินค้าในอาเซียนจะเข้ามาใช้พื้นที่จอดทอดสมอบริเวณเกาะสีชังมากขึ้นด้วย
ส่วนผลการศึกษาที่นักวิชาการ จากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการศึกษาถึงความเหมาะสมในการพัฒนาเกาะสีชังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาเกาะสีชัง และหมู่เกาะโดยรอบให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ผ่านมา ได้รับการผลักดันจากเรือสินค้าร้อยละ 85 ให้เป็นจุดศูนย์กลางการถ่ายเทสินค้าทางทะเล และทางผ่านของการขนส่งสินค้าในภูมิภาคอินโดจีนต่อไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และยังจะทำให้พนักงานบนเรือได้รับการผ่อนคลาย และพักผ่อน และได้จับจ่ายใช้สอยจากการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี
ขณะที่ลักษณะกายภาพภูมิประเทศที่มีความพร้อมด้านลอจิสติกส์ ทั้งทางน้ำ และทางบก รวมทั้งทางอากาศ ยังจะทำให้การขนส่งสินค้าอื่นๆ มีความสะดวกมากขึ้น
นอกจากนั้น ชุมชนบนเกาะจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยว ซึ่งจะดึงดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างมหาศาลจากความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงจากเรือสินค้าที่เข้ามาจอดทอดสมอ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และยังจะทำให้เรือสินค้าอีกหลายร้อยลำเข้ามาจอดทอดสมอเพื่อรอการขยายการค้าต่อไปยังยุโรป
และจะเกิดการพัฒนาสินค้า และบริการที่มีอยู่แล้วบนเกาะเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและบริการ เกิดการลงทุนก่อสร้างเพื่อบริการนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และที่พักอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนบางส่วนมีอาชีพในการทำงานกับภาคเอกชน และประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าและบริการแก่เรือเดินสมุทร รวมทั้งการสร้างอาชีพใหม่ๆ
แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็คือ การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นในการบริการนักท่องเที่ยว เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบด้านความปลอดภัยจากการมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางมาตรการรองรับ และแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต