xs
xsm
sm
md
lg

วช.เดินสายติวเข้มนักวิจัยเหนือ ของานใช้ได้จริง-ต่อยอดได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - “คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ” ยกคณะเดินสายติวเข้มนักวิจัยเหนือ ย้ำเขียนโครงการต้องใช้งานได้จริง ขยายผลช่วยเกษตรกร-ต่อยอดได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เปิดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยประจำปี 2560 แก่เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (ศอบช.) พร้อมระดมผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เช่น ยางพารา การท่องเที่ยว ลอจิสติกส์ อ้อยและน้ำตาล ข้าว ปาล์ม สัตว์เศรษฐกิจ ฯลฯ แก่คณะนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ในพื้นที่ภาคเหนือประมาณ 500 คน เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัย กรอบการวิจัยในการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและแนะนำขั้นตอน วิธีการเขียน เงื่อนไขต่างๆ ฯลฯ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตระเวนจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มาแล้ว

น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการ วช.ที่เดินทางมาเป็นประธานฯ กล่าวว่า ศอบช.ซึ่งประกอบไปด้วยหลายองค์กรเครือข่ายด้านการวิจัยในหลายหน่วยงาน และสำนักงานพัฒนาเสรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันบริหารจัดการให้ทุนวิจัย โดยมีเป้าหมายให้ใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รักษาการ ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรม วช.กล่าวว่า การวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือว่ามีความสำคัญมาก ในอดีตเคยมีตัวอย่างเรื่องธุรกิจบางอย่างที่เคยทำการตลาดได้ดี แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม เพราะธุรกิจหลงลืมเรื่องกำลังความสามารถของตนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไม่รู้ว่าขีดความสามารถตนมีขีดจำกัดเท่าไหร่หรืออย่างไร

เรื่องนี้การทำการวิจัยสามารถวิจัยเพื่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยที่จำนวนสินค้ายังมีปริมาณเท่าเดิมได้ โดยมีการออกแบบสินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ดี และสิ่งสำคัญคือสามารถต่อยอดธุรกิจได้ และผู้ทำวิจัยต้องทำให้งานนำไปใช้ได้จริงด้วย

ดร.จันทรวิภากล่าวอีกว่า ในการนำเสนอผลงานเพื่อขอรับการอุดหนุนจะมีคณะกรรมการชุดแรกก่อนจำนวน 5 คน มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ชำนาญการ สวก. ผลงานที่นำเสนอเข้าไปอาจให้มีการปรับปรุงได้ เมื่อผ่านพ้น 2 เดือน และ 6 เดือนก็จะต้องเข้าสู่คณะกรรมการชุดต่อๆ ไปเพื่อกลั่นกรองให้ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดต้องพิจารณาหลากหลาย เช่น การขอเงินทุนมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน เป็นต้น

น.ส.กุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สกว กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโครงการที่ผ่านการพิจารณาตั้งแต่รอบแรกแค่ 10-15% จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องมีการร่วมกันพัฒนาการเขียนโครงการด้วย เพื่อให้แต่ละโครงการที่มีประโยชน์ สามารถผ่านการพิจารณาตั้งแต่คณะกรรมการชุดแรก เช่น เรื่องการวิจัยเรื่องข้าวมีกรอบการวิจัย 3 ด้านคือการพัฒนาเกษตรกร การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และการเพิ่มคุณภาพข้าว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สกว.อยากได้การวิจัยที่เป็นต้นแบบ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถต่อยอดได้ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลาดที่ดี ผู้บริโภคชัดเจน เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น