อ่างทอง - ชาวนาอ่างทองค้านมาตรการ รมว.เกษตรฯ ที่จะเสนอมาตรการปรับโครงสร้างการปลูกข้าวนาปรังของชาวนา ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน และจะจ้างชาวนาให้เลิกปลูกข้าวนาปรังไร่ละ 1,000 บาท ชี้เงินค่าจ้างไร่ละ 1,000 ไม่คุ้มค่าต่อราคาข้าวที่ขายได้เกวียนละ 7-8 พันบาท
วันนี้ (20 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่จังหวัดอ่างทองหลายคนได้ออกมาคัดค้านมาตรการของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระบุว่า ปลายเดือน ก.ค.59 นี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอมาตรการปรับโครงสร้างการปลูกข้าวนาปรัง โดยการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น และจ้างชาวนาเลิกปลูกข้าววงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมคุมทำนาตามแผนข้าวครบวงจร โดยจะจ่ายเงินให้แก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ในการจ้างชาวนาให้เลิกปลูกข้าวนาปรัง
โดย นายสามชาย คล้ายโตนด อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60/2 ม.1 ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง กล่าวว่า หากเป็นอย่างนั้นจริงตนคงไม่ยอมแน่ เพราะปัจจุบันตนมีที่นาทั้งหมด 40 ไร่หากจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ก็จะได้ 40,000 บาท ถามว่าเงิน 40,000 บาท จะเอาไปทำอะไรได้ ถ้าจะให้ปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์คงทำไม่ได้อย่างแน่นอน
“ทุกอย่างเคยลองทำมาหมดแล้ว ที่สำคัญเลยคือ เงินไร่ละ 1,000 บาท ยังไม่เท่ากับเงินที่ได้จากการทำนาเพียงแค่ 10 ไร่ด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้ชาวนาขายข้าวได้เกวียนละ 7,000-8,000 บาท ราคาดี หรือไม่ดีถึงอย่างไรก็ยังไงขายหมด ไม่เหมือนปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ถ้าจะให้ชาวนาหันมาปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลั้ยงหมูเหมือนกันหมด เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดของก็ต้องล้นตลาด และทำให้ราตกต่ำ ต้องมาเหลือทิ้ง หรือเน่าเสียจะกลายเป็นยิ่งหนักกว่าเดิม” นายสามชาย กล่าวและว่า
ส่วนเรื่องน้ำที่นำมาใช้ทำนานั้น ปัจจุบันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ได้มีการเจาะบ่อบาดาลไว้แล้วสามารถทำนาได้ปีหนึ่งถึง 3 รอบ อีกทั้งอาชีพการทำนาพวกเราก็ช่วยพ่อช่วยแม่ทำกันมาตั้งแต่เด็ก ถ้าจะให้ไปทำอาชีพอื่นคงทำไม่ได้อย่างแน่นอน