“อภิรดี” นำทีมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยที่สิงคโปร์ ปลายเดือน ก.ค.นี้ เตรียมขนข้าวคุณภาพดี ข้าวชนิดพิเศษไปเสนอขาย หวังเพิ่มยอดส่งออก พร้อมยัน “โกรว์ เอเชีย” ภายใต้ดับเบิลยูอีเอฟ ย้ำไทยเดินถูกทาง หันพัฒนาสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนในอนาคต
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ จะเดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวของไทย โดยเน้นข้าวคุณภาพดี ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ข้าวไรซ์เบอร์รี เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักข้าวหลากหลายชนิดของไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะขณะนี้ผู้บริโภคทั่วโลกใส่ใจในสุขภาพกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตอาหาร และพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลกจะผลักดันการส่งออกข้าวชนิดใหม่ๆ ป้อนความต้องการของตลาดโลก
“ก่อนหน้านี้ไทยได้เดินทางไปประชาสัมพันธ์ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวอินทรีย์ที่ฮ่องกงมาแล้ว และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยหวังว่าผู้บริโภคสิงคโปร์จะให้การตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน”
นอกจากนี้ยังจะประชาสัมพันธ์ให้รู้จักผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากข้าวด้วย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับเด็ก ยา วิตามิน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เป็นต้น เพราะไทยมีเป้าหมายที่จะนำข้าวมาวิจัยและพัฒนา เพื่อผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือซูเปอร์ฟูดส์ ให้มากขึ้น
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพื่อวิจัยและพัฒนาข้าวไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามความต้องการของตลาดนั้น ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าว แต่เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิสถาบันส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพาณิชย์สินค้าเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับบลิวอีเอฟ) ที่มาเลเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสหารือกับ โกรว์ เอเชีย (Grow Asia) หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้ดับบลิวอีเอฟ ซึ่งโกรว์ เอเชีย ย้ำว่า การที่ไทยหันมาวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นการเดินมาถูกทางแล้ว
“ไทยจะหวังส่งออกข้าวที่เป็นข้าวสารไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่เกิดความยั่งยืน ถ้าปีไหนผลผลิตข้าวดี ข้าวล้นตลาด ก็จะส่งออกได้น้อย ราคาในประเทศตกต่ำ แต่การผลิตข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก และเป็นสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นจะเป็นการทำให้อุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบของไทยยั่งยืน เพราะเมื่อขายสินค้าได้มากขึ้น ความต้องการใช้ข้าวจะมากขึ้น และเกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นางอภิรดีกล่าว