xs
xsm
sm
md
lg

ถกมาตรการร่วมรับมืออุทกภัยพื้นที่พัทยาหวั่นซ้ำร้อย “หว่ามก๋อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการรับมืออุทกภัยพื้นที่พัทยา หวั่นซ้ำร้อย “หว่ามก๋อ”

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พ.อ.ยุทธชัย เฑียรทอง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 เป็นประธานการประชุมร่วมกับอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา ฐานทัพเรือสัตหีบ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ข้างเคียงเมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหารือเตรียมความพร้อมการรับสถานการณ์อุทกภัยจากปัญหาน้ำหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี

ด้าน นายชาคร กัญจนะวัตตะ นายอำเภอบางละมุง กล่าวว่า ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา เมืองพัทยาประสบต่อปัญหาอุทกภัยอย่างหนักจากพิษพายุ “หว่ามก๋อ” ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งเรื่องของภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการระบายน้ำที่อาจไม่ทัน ด้วยปริมาณฝนที่ตกหนักมากถึงกว่า 130 มม.ต่อชั่วโมง ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีก จึงต้องบูรณาการร่วมทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางแก้ไข

ส่วน นายชนัฐพงษ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยาประสบปัญหาทางด้านกายภาพที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำจึงทำให้มวลน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงซึ่งอยู่สูงกว่าไหลมารวมกัน ขณะที่คูคลองสาธารณะ และท่อระบายน้ำที่มีอยู่มีสภาพตื้นเขิน และขนาดเล็ก ซึ่งแม้ว่าจะมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพที่จะสูบส่งน้ำเข้าสู่ระบบ แต่ก็สามารถรองรับน้ำได้เพียง 6.5 หมื่น ลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่ปริมาณน้ำเสียมีอยู่ในปัจจุบันสูงกว่า 8 หมื่น ลบ.ม.ต่อวัน ทำให้มีปริมาณน้ำค้างท่อเป็นจำนวนมาก เมื่อมีมวลน้ำมาสมทบจึงทำให้น้ำล้นท่ออย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ และชุมชนหลายแห่ง

ขณะที่ น.ส.กษิมา อนันทยากร รักษาการผู้อำนวยการส่วนจัดการระบบป้องกันและจัดการระบายน้ำ สำนักช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เมืองพัทยาประสบปัญหาอุทกภัยมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งที่หนักสุกคือ ฝนจากพิษพายุ “หว่ามก๋อ” แต่เมืองพัทยาก็สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ช้าที่สุดเพียงเวลา 1 วัน ที่เหลือจะเป็นชุมชน และที่ลุ่มต่ำซึ่งเกิดปัญหาประจำ เช่น คลองปึกพลับ หนองใหญ่ สุขมุวิท 45 ซอยบัวขาว พัทยาใต้ วัดธรรมสามัคคี เลียบทางรถไฟ พัทยาสาย 3 หรือ 30% ของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้จัดทำระบบรองรับและแก้ไขปัญหาไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การจัดทำระบบป้องกันน้ำหลากเข้าสู่เมืองพัทยาตามแนวถนนเลียบทางรถไฟ 2.การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่สถานีสูบ จำนวน 7 แห่งทั่วเขตเมืองพัทยา และ 3.การจัดหาอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำแบบลากจูงเพื่อนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว และมีปัญหาของการท่วมขังเพื่อรอการระบายในระยะเวลาสั้นเท่านั้น แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีมากจึงทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในอนาคตเมืองพัทยามีแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจัดโครงการขยายทางระบายน้ำ พร้อมการก่อแพงคันหิน การขยายแนวท่อระบายน้ำเพิ่มเติม การจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ การเพิ่มช่องทางการระบายสู่ทะเล และการควบคุมการพัฒนาที่ดินที่ต้องไม่กีดขวางลำราง หรือช่องทางการระบายน้ำหลัก พร้อมทั้งการจัดทำแผน 3 ระยะ ได้แก่ แผนเร่งด่วนคือ การขุดลอกคลองสาธารณะ ปรับปรุงเพิ่มอัตรากำลังในระบบสูบน้ำ และการเตรียมทีมปฏิบัติงาน 24 ชม.

ระยะกลาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างกำแพงกันน้ำคลองนาเกลือ ในงบ 14.9 ล้านบาท และกำแพงกันดินคลองพัทยาใต้ 58 ล้านบาท ขณะที่ระยะยาว มีแผนการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟ ระยะที่ 1 งบประมาณ 810 ล้านบาท โครงการสร้างโครงข่ายท่อระบายน้ำเมืองพัทยา 9 โซน 3,410 ล้านบาท แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วม 300 ล้านบาท และโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยธรรมชาติ 120 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนนี้ในที่ประชุมได้ขอรับความร่วมมือทุกภาคส่วนในทุกระดับเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่น เพื่อรองรับในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งการเร่งรัดผู้เกี่ยวข้องดำเนินการขุดลอกคู คลอง ทางระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำเพื่อลงพื้นที่อำนวยความสะดวกในพื้นที่ประสบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น