xs
xsm
sm
md
lg

อ่าวพัทยาวิกฤต! สวล.เผยข้อมูลพบคุณภาพน้ำทะเลพัทยาเข้าข่ายเสื่อมโทรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อ่าวพัทยาวิกฤต สำนักงานสิ่งแวดล้อมเผยข้อมูลระบุคุณภาพน้ำทะเลพัทยาเข้าข่ายเสื่อมโทรม ด้านเมืองพัทยาเร่งจัดประชุม Focus Group หารือร่วมวางจัดทำแผนลดปัญหามลพิษน้ำเสีย-ขยะ ระยะยาว ชี้ทรัพยากรทางทะเลเป็นหัวใจสำคัญด้านการท่องเที่ยว

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมร่วม Focus Group กับตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 (ชลบุรี) และหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อร่วมหารือแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ใหม่ ในช่วงระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี 2535 ที่กำหนดให้เมืองพัทยา เป็นเขตควบคุมมลพิษ และแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ในช่วงปี 2556-2559 กำลังจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของการจัดทำแผนดังกล่าวจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย และปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งพบว่า ปัจจุบันถือเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยในส่วนของปัญหาขยะนั้นจะมีการพิจารณาก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแห่งใหม่ เพื่อรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในเมืองพัทยาได้ รวมทั้งการทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่สำหรับการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ตำบลเขาไม้แก้วใหม่ ส่วนปัญหาน้ำเสียนั้นมีแผนที่จะขยายระบบบำบัดน้ำเสียเดิมซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง

ได้แก่ สถานีบำบัดซอยวัดหนองใหญ่ ที่มีน้ำเสียไหลเข้าสู่ระบบ 80,000 ลบ.ม./วัน ที่ไหลมาจากชุมชน และโรงแรมอีกกว่า 450 แห่ง โดยสถานีแห่งนี้มีแผนการขยายในเฟส 2 เพื่อให้สามารถรองรับน้ำเสียได้เป็น 1.3 แสน ลบ.ม./วัน ทั้งนี้ ได้มีแผนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่ง แวดล้อม (EIA) เพื่อรอการนำเสนอเพื่อพิจารณา อีกส่วนหนึ่งคือ สถานีซอยวัดบุญย์กัญจนาราม ที่รับน้ำเสียบางส่วนมาจากเขตตำบลนาจอมเทียน ซึ่งแต่เดิมรองรับน้ำเสียได้ 20,000 ลบ.ม./วัน แต่ขณะนี้ได้มีการขยายระบบให้สามารถรองรับน้ำเสียได้เป็น 63,000 ลบ.ม./วันแล้ว และยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบระบบ

สำหรับปัญหาน้ำเสียเหล่านี้นับวันจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น จึงมีแนวการนำเสนอที่จะขอจัดสรรงบ ประมาณในการขยายระบบ รวมทั้งการขยายแนวท่อให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยา และการเสนอออกข้อบัญญัติให้บ้านเรือน และสถานประกอบการต้องต่อเชื่อมท่อระบายน้ำเสียเข้ากับท่อรวบรวมหลัก เพื่อความสะดวกต่อการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายต่อแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคาร โดยควบคุมการดัดแปลงอาคารมาเป็นโรงแรมให้มีการจัดการน้ำเสีย และสมบูรณ์

มีรายงานว่า ทางด้าน นายธนพงษ์ รัตนวุฒินันท์ ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี ได้นำเสนอรายงานผลการประเมินคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งภาคตะวันออกในที่ประชุม โดยระบุว่า ในปีงบประมาณ 2558 กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง เขตภาคตะวันออก ในพื้นที่ 5 จังหวัด

ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด รวม 60 จุด โดยทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย จากการประเมินค่าคะแนน MIWQI (Marine Water Quality Index) เฉลี่ยปี 2558 พบว่า คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดยร้อย 75 อยู่ในเกณฑ์ดี และร้อยละ 12 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม โดยมีอีกร้อยละ 12 ที่เข้าข่ายเสื่อมโทรมมาก

ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 25 จุด พบว่า พื้นที่แหลมฉบัง ตอนท้ายมีคุณภาพเสื่อมโทรมมาก โดยมีพื้นที่ของชายหาดพัทยากลาง ที่เข้าข่ายเสื่อมโทรม ขณะที่พื้นที่ตลาดนาเกลือ พัทยาเหนือ พัทยาใต้ เกาะล้าน และหาดจอมเทียน อยู่ในภาวะพอใช้ โดยไม่มีพื้นที่ใดที่อยู่ในภาวะน้ำที่มีคุณภาพดี และอาจจะเสื่อมโทรมลงต่อเนื่อง จึงควรดำเนินการจัดทำแผนเพื่อลด และกำจัดมลพิษ โดยเฉพาะกรณีของน้ำเสีย และขยะมูลฝอย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้น้ำทะเลอาจประสบปัญหาวิกฤตได้ในอนาคต

ทางด้าน นายวิรัตน์ จิระศรีไพฑูรย์ ผอ.สำนักช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ระบุว่า สำหรับเมืองพัทยาที่ผ่านมามีระบบบำบัดน้ำเสียเต็มรูปแบบ หลังได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีระบบรองรับน้ำเสียสมบูรณ์ 100% ตลอดแนวชายหาด จะมีผลบ้างคือ กรณีช่วงฝนตกที่จะมีปริมาณน้ำฝนไหลมาปะปนน้ำเสียค้างท่อที่หลงเหลืออยู่ประมาณ 10-20% แต่ก็ถูกเจือจางก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งคงไม่เกิดผลกระทบอะไรมากนักเพราะมีการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากชายหาดถือเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาน้ำเสีย และคุณภาพน้ำในทะเลของอ่าวพัทยาโดยเฉพาะบริเวณพัทยากลาง ที่มีการระบุข้อมูลว่า คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมนั้น แต่จริงแล้วอาจจะเป็นเพราะพื้นที่ข้างเคียงอย่างเขต โรงโป๊ะ หรือแหลมฉบัง ที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพ ทำให้มีการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลก่อนไหลมารวมกันบริเวณหน้าอ่าวพัทยา จึงทำให้คุณภาพต่ำลงบ้าง ซึ่งในอนาคต อย่างเขตเทศบาลนาจอมเทียนเองก็มีแผนการจัดทำระบบ และจะต่อเชื่อมระบบกับเมืองพัทยาแล้ว แต่ในส่วนที่เป็นปัญหา และยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ พื้นที่เมืองบริวาร อย่าง หนองปลาไหล หนองปรือ ห้วยใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่สูง และมีการปล่อยน้ำตามธรรมชาติเข้าสู่ระบบของเมืองพัทยาโดยไม่มีการจัดทำระบบบำบัด

โดยเฉพาะพื้นที่หนองปรือ ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างมาก ทั้งด้านโครงการจัดสรร คอนโดมิเนียม และสถานประกอบการมากมาย แต่ทางเทศบาลไม่ได้จัดทำระบบ หรือขาดความใส่ใจไม่คิดแก้ไข แม้ว่าจะมีการแนะนำโครงการไปอย่างสม่ำเสมอโดยชี้ว่าติดปัญหาเรื่องของงบประมาณ ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียเข้าสู่ระบบของเมืองพัทยาอย่างเต็มรูปแบบจนเกินขีดความสามารถในการรองรับ ซึ่งกรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปตรวจสอบ และหารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนในอนาคตอันจะเป็นการลดภาระของเมืองพัทยาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น