xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสิทธิฯ ตามดูสวนกล้วยทุนจีน พบเปลี่ยนชื่อใหม่-ขอขุดดิน เก็บน้ำตรวจซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กรรมการสิทธิฯ ยกคณะตามส่องสวนกล้วยทุนจีนในเชียงราย พร้อมนำตัวอย่างดิน-น้ำส่งตรวจซ้ำอีกรอบ พบเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่จาก “หงต๋าฯ” เป็น “หจก.พญาเม็งรายการเกษตร” ทำแทน ด้านคนดูแลยันใช้สารเคมี-ปุ๋ยจากไทยหมด ได้มาตรฐานความปลอดภัยชัวร์

วันนี้ (26 มิ.ย.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ, ฝ่ายปกครอง อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ได้เข้าตรวจสอบสวนกล้วยเอกชนจีนที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย ซึ่งตกเป็นกระแสข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับการแย่งน้ำ และใช้สารเคมี จนหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ และทางเอกชนจีนยอมยุติการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และหันไปขุดบ่อบาดาลแทน

ซึ่งพบว่าเอกชนจีนที่เคยใช้ชื่อ บริษัท หงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำสวนกล้วยดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) พญาเม็งรายการเกษตร แล้ว โดยยังคงเดินหน้าทำสวนกล้วยในเนื้อที่ 2,750 ไร่ แปลงเดิม

นายทวนชัย วลัยสุข ผู้ดูแลสวนกล้วย ซึ่งได้ให้ความร่วมมือ ตอบข้อซักถาม พร้อมนำคณะดูสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งพบว่าภายในสวนยังคงมีกล้วยขนาดต่างๆ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกเตรียมเพื่อปลูกใหม่เป็นบริเวณกว้างที่ท่อส่งน้ำวางเชื่อมต่อเข้าทุกแปลง รวมทั้งมีพันธุ์กล้วย ตลอดจนกล้วยที่ให้ผลผลิตเป็นกล้วยหอมหวีใหญ่

ส่วนตรงกลางจัดเป็นโรงคัดแยกที่เชื่อมสวนกล้วยด้วยรอกยาว เพื่อขนหวีกล้วยจากสวนมาคัด ทำความสะอาด และบรรจุกล่อง เตรียมส่งออกไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านทางถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ทางด่านพรมแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต่อไป

นายทวนชัยได้อธิบายให้คณะฯ ตั้งแต่เรื่องการปลูก และการดูแลต้นกล้วย รวมทั้งการส่งออก โดยได้ยืนยันว่าการใช้สารเคมีในสวนกล้วยเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทย และใช้สารเคมีที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด เพียงแต่เอกสารที่ติดบนสารเคมี หรือปุ๋ยจะใช้ภาษาจีนเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร จึงยืนยันในความปลอดภัย เพราะดำเนินการตามระยะเวลาที่นักวิชาการกำหนด

นายทวนชัยยังกล่าวอีกว่า จากการส่งกล้วยไปยังตลาดประเทศจีนก็ไม่พบว่าสินค้าถูกตีกลับมาแต่อย่างใด จึงแสดงให้เห็นว่ากล้วยหอมจากสวน อ.พญาเม็งราย มีความปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องปัญหาการจัดหาแหล่งน้ำที่เคยมีในอดีต ปัจจุบันได้หันมาใช้บ่อบาดาลที่ขุดเองภายในสวน โดยไม่ได้สูบน้ำจากแม่น้ำอิงแล้ว ปัญหาดังกล่าวจึงยุติลง

เมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้ขอนำตัวอย่างดิน น้ำ ฯลฯ จากสวนกล้วยไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ นายทวนชัยก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ด้านนางเตือนใจกล่าวว่า เข้ามาตรวจตามคำร้องของชาวบ้านที่เกรงจะได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาข้อสรุปต่อไป แต่ที่จะบอกว่ามีผลกระทบหรือมีอันตรายจากสารเคมีต่อประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่รอบสวนกล้วยหรือไม่นั้นต้องรอการตรวจสอบก่อน

ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานให้ความสนใจเข้าตรวจสอบสวนกล้วยดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนเองแล้วส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีนโดยตรง ซึ่งพบว่ามีการบริหารจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไทยดูแลสวนเป็นรายๆ ไปตามมาตรฐานและเนื้อที่ที่บริษัทเอกชนกำหนด มีการแบ่งให้เกษตรกรดูแลรายละไม่เกิน 50 ไร่หรือไม่เกิน 5,000 ต้นต่อราย มีชาวบ้านที่ดูแลสวนไม่น้อยกว่า 30 ครอบครัว

ขณะที่ทางบริษัทเอกชนจัดหาที่พัก อุปกรณ์ ปุ๋ย สารเคมี และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเอาไว้ให้พร้อมสรรพ เมื่อผลผลิตโตจะมีน้ำหนักหวีละตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไป และรับซื้อจากเกษตรกรด้วยการคัดเอาเฉพาะ 7 หวีแรกเท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น