xs
xsm
sm
md
lg

“สถานีก๊าซผักตบชวา” โชว์ผลงานใน “งานเกษตรเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)” ม.เกษตรฯ บางเขน รับสมัครผู้เข้าอบรมฟรี! 100 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - สถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยฯ เข้าร่วมโชว์ผลงานจัดแสดงผลงานสถานีก๊าซผักตบชวาฯ ในงานเกษตรเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ณ ซุ้มนวัตกรรม บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรมการเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน 24 มิ.ย-3 ก.ค.59 พร้อมเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมฟรี! เพียง 100 คน ที่ซุ้มนวัตกรรม

วันนี้ (26 มิ.ย.) รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. และรองผู้อำนวยการ กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย-3 ก.ค.59 นี้ สถานีก๊าซผักตบชวาระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชนภาคีเครือข่าย แห่งแรกของประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานสถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน ในงานเกษตรเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ณ ซุ้มนวัตกรรม บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเปิดงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.59 เวลา 14.00 น.

ภายในงานได้จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เพื่อใช้ระดับครัวเรือน และระดับวิสาหกิจชุมชน และการแสดงผลงานของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) - ศวท. เช่น สถานีเกษตร นพค.34 (หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34) องค์ความรู้ สู่ประชาชน ไฮไลต์สำคัญคือ การรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมฟรี จำนวน 100 ท่าน ซึ่งจะจัดการอบรมที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การแจกของที่รำลึก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสถานีเกษตร นพค.34 เช่น สบู่กวาวเครือขาว น้ำหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งโต

สำหรับขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงนั้น ทำได้ง่ายโดยนำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับศักยภาพของจุลินทรีย์ หลังจากนั้น สามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ การเกิดก๊าซชีวภาพจะลดลงในเวลาประมาณ 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมักเสร็จสิ้นแล้วยังมีประโยชน์ เนื่องจากยังคงมีธาตุอาหารเหลืออยู่ สามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้เพื่อเป็นวัสดุบำรุงดิน และช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านเข้าเยี่ยมชมการแสดงผลงานสถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชนได้ที่งานสถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน ภาคีเครือข่ายแห่งแรกของประเทศไทย ในงานเกษตรเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ณ ซุ้มนวัตกรรม บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หรือสมัครเข้ารับการอบรมได้ฟรี พร้อมกับรับของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ โดยรับเพียง 100 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจองค์ความรู้เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง สามารถสมัครเข้ารับการอบรม หรือสนใจสมัครร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ‘ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง’ หรือสนใจองค์ความรู้ด้านการเกษตรด้านต่างๆ ได้ โดยติดต่อสอบถามได้ที่ รศ. ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หรืออาจารย์ขวัญชัย นิ่มอนันต์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 09-5054-8240 หรือ 08-3559-8448 อีเมล mppf@ku.ac.th หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew

อนึ่ง สำหรับศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) –ศวท.หรือชื่อย่อ ‘ศจพภ.’ เป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ร่วมกับกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ในความดูแลของ พ.อ.กฤตพันธุ์ รักใคร่ ได้ร่วมกันจัดตั้ง "สถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย" ณ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559”

สถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน ถอดบทเรียนจากผลงานวิจัยเรื่อง ‘การผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง’ เป็นการนำผักตบชวามาผลิตก๊าซชีวภาพ ด้วยกลไกของจุลินทรีย์ธรรมชาติ สำหรับใช้เป็นพลังงานหุงต้มในครัวเรือน นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวา โดยเปลี่ยนวัชพืชนี้ให้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งคณะผู้วิจัยคือ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2558-2559







กำลังโหลดความคิดเห็น