นครปฐม - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ณ บริเวณซุ้มนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดยทางกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผอ.ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และรอง ผอ.กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ณ บริเวณซุ้มนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในบริเวณสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ที่ทางกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ได้ร่วมกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
โดยมี คุณเปรมชัย นวาระสุจิตร ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ยูอาร์ชี (ประเทศไทย) จำกัด เภสัชกร ศักดา เสมา รองประธานบริหารสายการผลิต บริษัท อาร์เอ๊กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด คุณสุภัคมงคล-คุณชุติภา บวรกิจสุธี ประธานกรรมการ บริษัท รัตนบวรกิจติ สมุนไพร จำกัด รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฝ้ารับเสด็จฯ
สำหรับภายในงานดังกล่าว กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ร่วมกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค.34) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ในความดูแลของ พ.อ.กฤตพันธุ์ รักใคร่ และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอผลงานและกิจกรรมเรื่อง สถานีก๊าซผักตบชวาระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ภาคีเครือข่าย ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี ปี 2559”
โดยมีพันธมิตรผู้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของกองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกรฯ และศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. คือ คุณเปรมชัย นวาระสุจิตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูอาร์ชี (ประเทศไทย) จำกัด เภสัชกรศักดา เสมา รองประธานบริหารสายการผลิต บริษัท อาร์เอ๊กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด คุณสุภัคมงคล-คุณชุติภา บวรกิจสุธี ประธานกรรมการ บริษัท รัตนบวรกิจติ สมุนไพร จำกัด สถานีก๊าซผักตบชวาระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน ถอดบทเรียนจากผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” เป็นการนำผักตบชวามาผลิตก๊าซชีวภาพ ด้วยกลไกของจุลินทรีย์ธรรมชาติ สำหรับใช้เป็นพลังงานหุงต้มในครัวเรือน นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวา โดยเปลี่ยนวัชพืชนี้ให้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งคณะผู้วิจัยคือ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2558-2559
สำหรับการจัดแสดงผลงาน “สถานีก๊าซผักตบชวา ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน” ภาคีเครือข่ายแห่งแรกของประเทศไทยนั้นจะจัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงเพื่อใช้ระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน การแสดงผลงาน สถานีเกษตร นพค.34 องค์ความรู้ สู่ประชาชน ไฮไลต์สำคัญคือ การรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมฟรี จำนวน 100 ท่าน ซึ่งจะจัดการอบรมที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่าย โดยนำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับศักยภาพของจุลินทรีย์ หลังจากนั้นสามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ การเกิดก๊าซชีวภาพจะลดลงในเวลาประมาณ 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมักเสร็จสิ้นแล้วยังมีประโยชน์ เนื่องจากยังคงมีธาตุอาหารเหลืออยู่ สามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้เพื่อเป็นวัสดุบำรุงดิน และช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้
นอกจากนี้ ยังมีการแจกของที่รำลึก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสถานีเกษตร นพค. 34 เช่น สบู่กวาวเครือขาว แชมพูสระผมกวาวเครือขาว น้ำหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งโต รวมทั้งบริษัทพันธมิตรได้มอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่ บริษัท อาร์เอ๊กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท บริษัท รัตนบวรกิจติ สมุนไพร จำกัด บริษัท ยูอาร์ชี (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้สนใจองค์ความรู้เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง สามารถสมัครเข้ารับการอบรมในงานสีสรรพรรณไม้ฯ หรือสนใจสมัครร่วมเป็นภาคีเครือข่าย “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” หรือสนใจองค์ความรู้ด้านการเกษตรด้านต่างๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 08-3559-8448 อีเมล mppf@ku.ac.th หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew