xs
xsm
sm
md
lg

“ครูหยุย” นำคณะ อนุ กมธ.ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - “ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะฯ นำคณะอนุ กมธ.ศึกษาแนวทางป้องกันฯ และอนุ กมธ.ประมวลสถานการณ์การทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน เผยเตรียมวางแนวทางในการออกกฎหมายแก้ปัญหาสัตว์ถูกทอดทิ้ง ทั้งการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ฝังไมโครชิป และการลงโทษผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงไปทิ้ง

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ และคณะอนุกรรมาธิการประมวลสถานการณ์การทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูงานด้านการบริหารจัดการ ดูแล และช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยมี นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน น.ส.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรี รองปลัดเทศบาล เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ตำรวจภูธรหัวหิน ผอ.รพ.สัตว์ ม.เกษตรศาสตร์หัวหิน ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงานเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง

โดยได้เยี่ยมชมภายในศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ชมการสาธิตสุนัขว่ายน้ำเพื่อช่วยเหลือสุนัขให้ออกกำลังกายสำหรับสุนัขป่วย หรืออายุมาก ชมคอกสุนัขแรกรับ สุนัขให้เลือด ตลอดจนการบริหารจัดการสุนัขภายในศูนย์ฯ ทั้งหมด โดยคณะกรรมมาธิการฯ ได้ยกให้ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโครงการต้นแบบบริหารจัดการสุนัขจรจัดอย่างมีระบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันดูแลสุนัขจำนวนมากถึง 1,151 ตัว พร้อมรับฟังข้อมูลการจัดการปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะของเทศบาลเมืองหัวหิน ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ คณะฯ จะเดินทางไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife friends foundation : WFFT) ของนายเอ็ดวิน วิก ที่หมู่ 6 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อเรียนรู้การอนุบาลสัตว์ป่า การอนุรักษ์ช้าง และการดูแลรักษาช้างที่ถูกใช้ประโยชน์ในธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมรับฟังข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องกรณีช่วยเหลือดูแลสัตว์ป่า เพื่อเสนอแนะแนวทาง และมาตรการการแก้ไขปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ป่าในที่สาธารณะด้วย

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการกำลังรวบรวมข้อมูล และประมวลสถานการณ์ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ซึ่งสุนัขเป็นรูปธรรมของการถูกทอดทิ้งที่ชัดเจนที่สุด โดยจะหาทางออกของการจัดการปัญหาเรื่องสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งว่าควรจะเป็นอย่างไร สาระสำคัญของการป้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ทางคณะกรรมาธิการฯ จะต้องนำกลับไปบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้คนที่เลี้ยงดูมีสำนึกที่ถูกต้อง ไม่ทอดทิ้งสัตว์ ตลอดจนการดูแลสัตว์ไม่ให้ไปรบกวนชาวบ้าน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการจะดูในส่วนของสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งแล้วจะทำอย่างไรให้คนในสังคมช่วยกันดูแล ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะต้องมีการหารือกับคนที่เลี้ยงดูสัตว์ในที่ชุมชนต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้

การมาศึกษาดูที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินในพระบรมราชูปถัมภ์นี้ เพื่อศึกษาดูตัวอย่างของการจัดการต่อสัตว์ หรือสุนัขที่ถูกทอดทิ้งแล้วอย่างเป็นระบบ สามารถเป็นแบบอย่างได้ในอนาคต ซึ่งศูนย์รักษ์สุนัขมีความสำคัญตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ตลอดจนแนวทางการดูแลสุนัขที่ชัดเจน โดยในอนาคตหากมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นแล้ว ที่ศูนย์รักษ์สุนัขจะเป็นหนึ่งสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการได้

สำหรับเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อสุนัข ปัจจุบันเริ่มมีการใช้มากขึ้น ทางคณะกรรมาธิการฯ มองว่า ตัวกฎหมายไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การรับรู้ในส่วนของสาระของกฎหมายยังเป็นปัญหาอยู่ มีบางส่วนเข้าใจว่าเราไม่สามารถทำอะไรสุนัขได้เลย ซึ่งไม่จริง สาระคือ เราสามารถป้องกันตัวเองได้ ป้องกันทรัพย์สินได้ ป้องกันสัตว์เลี้ยงเราได้ หากถูกสุนัขอื่นรบกวน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในตัวกฎหมายนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2559 นี้ เมื่อสุนัขกัดคน หรือคนทำร้ายสุนัข ทางออก หรือความสมดุลของการแก้ไขปัญหาคืออะไร ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาคือ มนุษย์ทำร้ายสัตว์มากจนเกินไป แต่หาสุนัขดุร้ายจนเกินไปทำร้ายคน ก็จะต้องถูกนำตัวไปควบคุมไว้ตามสถานที่เฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำได้

ส่วนการวางแผน หรือการแก้ปัญหาสัตว์ถูกทอดทิ้งในที่สาธารณะนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ มองว่าควรจะต้องยกร่างกฎหมายใหม่ หรือการดูแลกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายสาธารณสุข ซึ่งอาจจะต้องดูในส่วนของกฎหมายลูกเพิ่มด้วยว่าจะสามารถออกกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อให้คนมาขึ้นทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ แต่หากไม่สามารถทำได้ก็จะต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อบังคับให้คนที่เลี้ยงดูสัตว์มาขึ้นทะเบียน มีการฝังไมโครชิปเพื่อตรวจสอบรายละเอียด มีการฝึกวิธีการดูแล และบัญญัติโทษหากนำสุนัข หรือสัตว์มาทอดทิ้งในที่สาธารณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดแล้ว และอีกไม่นานจะมีการการยกร่างกฎหมายดังกล่าวสู่สภาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น