ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กกต.โคราช เตรียมระดม จนท.3 หมื่นคนรับมือลงประชามติ รธน. ห่วงประชาชนใช้สิทธิน้อย ระบุตัวเลขผู้มาลงทะเบียนนอกเขตน้อยมาก แนะรักษาสิทธิของตนเอง ชี้ผู้ที่เคยทะเบียนเลือกตั้งครั้งก่อนใช้ไม่ได้ เผยยังไม่พบกลุ่มเคลื่อนไหวต้านประชามติ ด้านรัฐบาลและ กกต.ส่วนกลางลงพื้นที่ประชุมชี้แจง “ร่าง รธน.และประชามติ” ภาคอีสานที่โคราช 25 มิ.ย.นี้
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายฐิติพล ทศรส ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ของ จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ทั้ง 2 ส่วน คือ ด้านบุคลากร โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการออกเสียงประชามติระดับจังหวัด ซึ่งมีนายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานคณะกรรมการ และได้มีการพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ระดับอำเภอไปทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นจะมีผู้ดำเนินการบริหารจัดการลงประชามติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง จังหวัด และอำเภอ
นอกจากนี้ ส่วนที่ 2 คือ การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้การจัดทำประชามติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้ได้เตรียมแผนจัดหาไว้แล้ว รอการอนุมัติงบประมาณเท่านั้น คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร
นายฐิติพลกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญขณะนี้คือ การรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด ที่เป็นห่วงคือ การลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัดซึ่งทั้งประเทศมีคนลงทะเบียนเมื่อการเลือกตั้ง ส.ว.และ ส.ส.ประมาณ 2 ล้านคน แต่ขณะนี้ทั้งประเทศมีคนมาลงทะเบียนออกเสียงประชามติไม่ถึง 40,000 คน ถือว่าน้อยมาก ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ทั้งทางออนไลน์และยื่นทางไปรษณีย์ หมดแขตวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และอีกวิธีคือไปยื่นได้ที่สำนักงานเขตต่างๆ ซึ่งจะสามารถยื่นหลักฐานได้ถึงวันที่ 7 ก.ค. 2559 หากไม่ไปลงทะเบียนแล้วจะทำให้เสียสิทธิต่างๆ ได้
ขณะนี้ประชาชนหลายคนเข้าใจว่าเคยลงทะเบียนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไว้แล้วไม่ต้องไปลงทะเบียนอีกนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะการลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามติครั้งนี้ต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด ฉะนั้นอย่านิ่งนอนใจ
สำหรับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธินั้น ขณะนี้ทาง กกต.กลางยังมีความกังวลเกรงว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิน้อย จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพื่อให้การออกมาใช้สิทธิของประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีกรรมการอีก 5 คน เพื่อวางยุทธศาสตร์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว
นายฐิติพลกล่าวอีกว่า จ.นครราชสีมามีผู้ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุดประมาณ 70% ผู้ใช้สิทธินอกเขตจังหวัดประมาณ 10,000 คน แต่ครั้งนี้ยังมีน้อย และเป็นห่วงว่าวันลงคะแนนออกเสียงประชามตินอกเขตกับในเขตเป็นวันเดียวกันจึงทำให้มีความยุ่งยากเล็กน้อย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติประมาณหน่วยละ 8 คน จากทั้งหมด 4,376 หน่วย รวม 35,008 คน โดยยึดหน่วยเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และบวกเพิ่มในจำนวนหน่วยที่หมู่บ้านที่มีการแยกออกมาใหม่ 12 หมู่บ้าน ประกอบกับมีบางหน่วยที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงมากกว่า 800 คน จะแยกหน่วยออกให้เพื่อความสะดวก ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาตั้งเป้าหมายมีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 80 บัตรเสียไม่เกินร้อยละ 3
ส่วนความเคลื่อนไหวในการคัดค้านการออกเสียงประชามติในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น จากการติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายสืบสวน กกต.จังหวัดและชุดสืบสวนของหน่วยตำรวจทหาร ยังไม่พบการเคลื่อนไหวใดที่น่าเป็นห่วงคาดว่าประชาชนเข้าใจดี ซึ่งการโหมประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธินั้น ขณะนี้ครู ก. ข. ค. อยู่ระหว่างการอบรม คาดว่าในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้บุคลากรเหล่านี้จะลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดจัดประชุมชี้แจง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชนในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น” ของภาคอีสาน ในวันเสาร์ที่ 25 มิ.ย.นี้ที่ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ หลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยจะมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนคณะรัฐมนตรี, นายกล้านรงค์ จันทิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวม 8 คน เดินทางมาร่วมชี้แจงแก่นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ผู้แทนสาขาพรรคการเมือง นักวิชาการ กลุ่มการเมืองภาคพลเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและประชามติครั้งนี้กว่า 600 คน