ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมทุกภาคส่วนจัด “เลี้ยงดง” ประจำปี 2559 ประเพณีเก่าแก่ตามความเชื่อ และพิธีกรรมโบราณที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ล้มควายหนุ่มเซ่นดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ เพื่อขอให้ดูแลบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่บริเวณสำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ และเทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีเลี้ยงดง และพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นประเพณี และพิธีโบราณของชาวบ้านในพื้นที่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี โดยมี นายศรัญญู มีทองคำ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้ พิธีดังกล่าวได้มีการนำเอาควายดำ ตัวผู้ ที่มีลักษณะเขายาวเท่าหู นำมาเชือดที่บริเวณลานโล่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ดง” จากนั้น จะมีการแห่ผ้าบฏ ซึ่งเป็นผ้ารูปภาพของพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ อายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี เข้ามาที่ดง เพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เชิญวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ และเหล่าบรรดาลูกๆ อีก 32 ตน มาเข้าร่างทรง เพื่อให้มารับสิ่งของเครื่องเซ่นที่ลูกหลานเตรียมไว้ในพิธี โดยคนทรงจะเข้ามากินเนื้อควายดิบๆ เลือดสดๆ พิธีเลี้ยงดงปู่แสะย่าแสะ
สำหรับพิธีดังกล่าวในอดีตเจ้าผู้ครองนครล้านนาทุกยุคสมัย และผู้นำชุมชนระดับสูงต้องเข้าร่วมในพิธีกรรม และเป็นประเพณีปฏิบัติถึงชนรุ่นหลัง ซึ่งการจัดพิธีกรรมนี้มีความเชื่อว่า เมื่อเลี้ยงดง บวงสรวงด้วยเครื่องเซ่น คือ ควายรุ่น เขาเพียงหูสีดำ จำนวน 1 ตัว เป็นเครื่องเซ่นไหว้ให้ดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ ให้มารับเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ โดยผ่านร่างทรงเข้ามารับเครื่องเซ่นไหว้ คือ ควายดิบที่เตรียมไว้ ตามความเชื่อว่าหากจัดพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล และประชาชนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ทำการเกษตรได้ผลดีตลอดปี ในขณะเดียวกัน ป่าต้นน้ำก็ยังคงอยู่ และสำหรับผู้บุกรุกก็มักมีอันเป็นไปด้วยอิทธิฤทธิ์ของดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ โดยพิธีนี้ถือสืบทอดปฏิบัติมากว่า 200 ปี จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ กล่าวว่า ประเพณีเลี้ยงดงถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และเป็นหนึ่งประเพณีโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน โดยทางเทศบาลเมืองแม่เหียะ มีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีดังกล่าว และจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปี
ประเพณีเลี้ยงดง เป็นการเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณผีในป่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล ด้วยความเชื่อว่า จะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และทำการเกษตรได้ผลดีตลอดปี ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนมีความรัก และหวงแหนรักษาป่าไม้ให้คงอยู่ และไม่ให้ใครเข้าไปบุกรุกทำลายธรรมชาติป่าต้นน้ำดังกล่าวให้เสียหาย