xs
xsm
sm
md
lg

ลงสำรวจปะการังเกาะในพื้นที่บางสะพาน พบเสื่อมโทรมอย่างหนักที่เกาะสิงห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมด้วยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล ม.รามคำแหง และ จนท.มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ร่วมกันสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ เกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า อาจต้องมีการหยุดกิจกรรมดำน้ำบริเวณเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ เนื่องจากสภาพแนวปะการังอยู่ในระดับเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก และบางส่วนปะการังตายเป็นวงกว้าง จนเกิดสาหร่ายสีดำเข้ามาปกคลุมแทน

วันนี้ (14 มิ.ย.) สภาพแนวปะการังในระดับน้ำลึกประมาณ 3-5 เมตร บริเวณเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ แหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นอีกแห่งของอ่าวไทยตอนกลาง ที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งราว 8 กิโลเมตร นายวัฒนา ประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจ พร้อมด้วย นายชัยณรงค์ เรืองทอง หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร พร้อมเจ้าหน้าที่ และ น.ส.อรอนงค์ บัณฑิต นักวิชาการประมงปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และผู้สื่อข่าว ร่วมกันสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณเกาะทะลุ เกาะสิงห์-เกาะสังข์ ซึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เคยสวยงาม แต่ปัจจุบันพบว่าอยู่ในระดับเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก นอกจากนั้น บางส่วนมีปะการังตายเป็นบริเวณกว้าง ทั้งปะการังทั้งเขากวาง และปะการังโขด และปะการังอีกหลายชนิด หัก และมีสีน้ำตาลคล้ำ

นายชัยณรงค์ เรืองทอง หน.ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้นอกจากเสื่อมโทรม ล้ว สิ่งสำคัญคือ แนวปะรังยังถูกปกคลุมไปด้วยสาหร่ายสีดำไม่ทราบชนิดที่กำลังเริ่มเจริญเติบโต ป็นบริเวณกว้างขึ้นมาแทนที่ปะการังอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ยากต่อตัวอ่อนปะการังที่จะมาเกาะ ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ได้ใช้วิธีการวางไลน์ และการบันทึกภาพใต้น้ำทั้งภาพวิดีโอ และภาพนิ่ง พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำ และทำการวัดอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ประมาณ 29 องศาเซลเซียส ซึ่งลดลงจากเดิมที่อุณหภูมิกว่า 31 องศาเซลเซียส จนส่งผลให้เกิดน้ำร้อน จนทำให้ปะการังเกิดฟอกขาว

ในเบื้องต้น พบว่า สถานภาพการังบริเวณเกาะสิงห์ และเกาะสังข์อยู่ในระดับเสื่อโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก ซึ่งอาจต้องมีการหยุดกิจกรรมดำน้ำบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริเวณเกาะสิงห์ เกาะสังข์ พบว่า มีอัตราการฟอกขาวประมาณ 15-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนบริเวณเกาะทะลุ ก็พบว่า ยังมีแนวปะการังบางส่วนที่ไม่เกิดสภาวะฟอกขาว

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า แนวปะการังบริเวณดังกล่าวค่อนข้างน่าเป็นห่วง และต้องเร่งหามาตรการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ โดยอาจต้องงดกิจกรรมดำน้ำในบางพื้นที่พื้นที่ซึ่งมีความเสื่อมโทรมอย่างหนัก ก่อนที่แนวปะการังจะเสียหายทั้งหมด ซึ่งสิ่งสำคัญแนวปะการังยังเป็นที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัววัยอ่อนของสัตว์น้ำ หากแนวปะการังตายก็ย่อมส่งผลกระทบทั้งกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ด้านอาชีพประมงตามมา

ดังนั้น คงต้องใช้มาตรการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อแนวปะการังบริเวณดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ทางบกของวนอุทยานป่ากลางอ่าว และวนอุทยานป่าแม่รำพึง และบริเวณพื้นที่บางส่วนเกาะทะลุ เกาะสิงห์ และเกาะสังข์ เนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 20,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนที่จะจัดส่งรายละเอียดต่างๆไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายวัชระ สามสุวรรณ เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า จาการลงดำสำรวจยอมรับว่า ทั้งเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ ปะการังเสื่อมโทรม ซึ่งเมื่อปี 2556 เคยมาร่วมสำรวจซึ่งพบว่า ปะการังในช่วงนั้นก็ยังมีความสมบูรณ์อยู่ แต่ครั้งนี้ยอมรับเสื่อมโทรมลงมาก เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการมาบริหารจัดการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแนวปะการังเกิดทั้งจากสาเหตุจากมนุษย์ ทั้งที่เกิดจากการท่องเที่ยว และภัยจากธรรมชาติ และต้องยอมรับว่า บริเวณเกาะสิงห์ เกาะสังข์ที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม







กำลังโหลดความคิดเห็น