กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี เผยกรมควบคุมมลพิษ เตรียมประกวดราคาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท แฉแผนฟื้นฟูเพียงแค่ฝังกลบ ชาวบ้านร้องแผนไม่เหมาะ แนะให้บริษัทกำจัดสารพิษอุตสาหกรรมดำเนินการ
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะเริ่มฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วของกิจการเหมืองแร่ในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากศาลปกครองสูงสุด พิพากษากว่า 3 ปี ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ร้องเรียนว่า ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและแผนการฟื้นฟูก็ไม่เหมาะสม ซึ่งคณะได้เดินทางไปพบชาวบ้าน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้มีโอกาสร่วมทำบุญ และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ชาวบ้านที่เสียชีวิตไปด้วย
โดยกรมควบคุมมลพิษ ใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ระหว่างปี พ.ศ.2559-2561 เพื่อดำเนินการ ในวงเงิน 584,248,800 บาท โดยจะมีการประกาศประกวดราคาการจ้าง แล้วให้ผู้รับจ้างยื่นข้อเสนอ และราคาในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 จากนั้นกำหนดเริ่มโครงการประมาณเดือนสิงหาคม 2559
กิจกรรมหลักที่ดำเนินรายการ คือ การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยสำหรับรองรับตะกอนดินที่ปนเปื้อนจากการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ และบริเวณโรงแต่งแร่ และการก่อสร้างฝายดักตะกอน จำนวน 2 แห่ง ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จใน 1,000 วัน หรือ 3 ปี
ชาวบ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นผู้ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครองสูงสุด จนศาลปกครองสูงสุด พิพากษาสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ภายใน 3 เดือน แต่กว่ากรมควบคุมมลพิษจะเริ่มก็ผ่านไป 3 ปี ชาวบ้านไม่ทราบแผน และรายละเอียดโครงการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วเลย แม้จะมีการตั้งให้ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่เมื่อไม่มีรายะเอียดโครงการเลยก็ไม่ทราบจะติดตามได้อย่างไร
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องการให้มีการฟื้นฟูลำห้วยตลิตี้ให้ปราศจากมลพิษอย่างแท้จริง ให้สามารถกลับไปใช้น้ำ และจับสัตว์น้ำกินได้ดังแต่ก่อน โดยการดูด หรือขุดลอกสารพิษจากกิจกรรมเหมืองแร่ออกทั้งหมด เริ่มจากบริเวณโรงแต่งแร่ ต้องเอาตะกั่วปนเปื้อนในพื้นที่ทั้ง 90 กว่าไร่ออกทั้งหมด แล้วจึงไล่ขุดลอกในลำห้วยคลิตี้ จากบริเวณโรงแต่งแร่ ลงมาจนพ้นหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ไม่ใช่ขุดลอกเพียงบางจุดตามแผนของกรมควบคุมมลพิษ
ในส่วนตะกอนตะกั่วจากการขุดลอกต้องนำไปกำจัดอย่างของเสียอุตสาหกรรม โดยบริษัท และโรงงานกำจัดมลพิษภายนอก เพราะกรมควบคุมมลพิษเคยตรวจสอบพบว่า เป็นสารพิษจากอุตสาหกรรม และนำออกไปกำจัดภายนอกแล้ว 4 หลุม จึงไม่ควรนำไปเพียงฝังกลบไว้ในพื้นที่เหนือลำห้วยคลิตี้ เพราะหากมีการรั่วไหลจะลงสู่ลำห้วยคลิตี้โดยตรง และกลับมาสู่หมู่บ้านคลิตี้ใหม่
ในระหว่างการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ไม่เสร็จสิ้น และชาวบ้านยังไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วย และจับสัตว์น้ำได้ดังเดิม กรมควบคุมมลพิษ ต้องเยียวยาจัดน้ำสะอาด และอาหารแทนสัตว์น้ำ ตลอดจนเยียวยาด้านชุมชนสังคมแก่ชาวบ้านคลิตี้” นายสุรพงษ์ เผย