กาฬสินธุ์ - ผอ.เขื่อนลำปาวยันถนนลาดยางราคากว่า 6 ล้านบาท ของแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ทรุดยาวกว่า 300 เมตร ไม่ได้มีสาเหตุจากการระบายน้ำ ระบุระบบส่งน้ำทำตามหลักวิชาการและศึกษาเป็นอย่างดี ขณะที่ชาวบ้านไม่เชื่อเป็นภัยธรรมชาติ จี้ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง และสัญญาจ้างเอื้อประโยชน์รับเหมา
จากกรณีชาวบ้านใน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แจ้งว่าถนนเลียบคลองชลประทานเขื่อนลำปาวบริเวณ สาย กส.4064 แยกทางหลวงหมายเลข 2416 - บ้านน้อยบึงอร่าม บริเวณบ้านหนองขาม ม.3 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 6,600,000 บาท เกิดการทรุดตัวและเป็นหลุมลึกระยะทางยาวกว่า 300 เมตร และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาซ่อมแซมโดยด่วน
เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งชาวบ้านเกรงว่ารถที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวจะเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิสูจน์การบดอัดดินใต้พื้นถนน เนื่องจากเชื่อว่าสาเหตุไม่ใช่ภัยธรรมชาติและอาจเป็นการทำไม่ได้มาตรฐาน
ล่าสุด วันนี้ (27 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวเดินทางเข้าสอบถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งขอดูแบบและสัญญาการก่อสร้างถนนสายดังกล่าวกับนายนายแอ๊ด เพชรฤทธิ์ ผอ.สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 16 รักษาการผอ.สำนักงานแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ ซึ่งนายแอ๊ดระบุว่าแบบแปลนและสัญญาการก่อสร้างกับบริษัทรับเหมาโครงการดังกล่าวสามารถดูได้ แต่ยังไม่สามารถให้ดูได้ในตอนนี้ เนื่องจากเป็นเอกสารทางราช แต่จะเตรียมไว้ให้ดูในสัปดาห์หน้า พร้อมระบุว่าการทรุดตัวถนนสายดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย และภัยธรรมชาติ โดยสาเหตุหลักคือบริเวณดังกล่าวเนื่องจากดินใต้ถนนนั้นเป็นดินอ่อนและดินทราย ซึ่งได้มีการนำดินลูกรังและลาดยางไปบดทับเพิ่มน้ำนักลงไป ประกอบกับมีเครื่องจักรวิ่งก่อสร้างอยู่ข้างบน จึงทำให้เกิดการทรุดตัว รับน้ำหนักไม่ไหว
นอกจากนี้ ระดับน้ำที่ลดลงในคลองส่งน้ำชลประทานเขื่อนลำปาวก็เป็นสาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ถนนทรุดได้เพราะดินทรายที่เคยมีน้ำอุ้มไว้แต่ระดับน้ำลดลงจะเกิดการทรุดตัว แต่ยอมรับว่าไม่ทราบมาก่อนว่าบริเวณดังกล่าวเป็นดินทราย
นายแอ๊ดกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับบริษัทรับเหมาโครงการดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว และทางผู้รับเหมาจะไม่คิดค่าจ้างในการซ่อมแซมบริเวณที่เกิดถนนทรุดกว่า 300 เมตร เท่าที่สำรวจเบื้องต้นเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาทเศษ โดยจะคิดเงินเฉพาะบริเวณอื่นๆ ที่ทำเสร็จแล้วเท่านั่น และที่ผ่านมาบริษัทรับเหมาเบิกเงินไปแล้ว 1 งวด ประมาณ 1 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้สำนักงานแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์จะต้องมีการแก้ไขสัญญาจ้างใหม่ โดยจะต้องหักเงินส่วนที่เกิดความเสียหายออก และจะเหลืองบประมาณที่ผู้รับเหมาจะสามารถเบิกได้รวมประมาณ 5 ล้านบาทเศษ พร้อมทั้งจัดหางบประมาณเข้ามาซ่อมแซมบริเวณถนนที่เกิดการทรุดตัวใหม่
ด้านนายปิยะปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว กล่าวว่า การที่ถนนบริเวณดังกล่าวเกิดการทรุดตัวเป็นทางยาวกว่า 300 เมตรนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการส่งน้ำและการเปิด-ปิดน้ำของเขื่อนลำปาว เนื่องจากการเปิด-ปิดและการส่งน้ำของเขื่อนจะดำเนินการแบบวิชาการ มีการสำรวจและศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทุกครั้ง
นอกจากนี้ ทางเขื่อนได้เริ่มลดการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2559 และปิดสนิทเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นการลดการส่งน้ำแบบชะลอไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และไม่ได้หยุดส่งแบบกะทันหัน จึงไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้ถนนบริเวณดังกล่าวทรุดตัวอย่างแน่นอน เพราะหากสาเหตุกับการส่งน้ำและเปิด-ปิดน้ำจริง ถนนหรือฝั่งตลิ่งตามคลองส่งน้ำของเขื่อนลำปาวตามจุดต่างๆ ก็คงจะทรุดและพังมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าสาเหตุหลักๆทราบว่าบริเวณดังกล่าวนั้นเป็นดินทรายสไลด์ รับน้ำหนักได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีการนำดินไปถมบดอัดและลาดยางจึงทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้และเกิดการทรุดตัว อีกทั้งก่อนการดำเนินการปรับปรุงถนนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบโครงการก็ควรที่จะมีการศึกษาว่าสามารถทำได้หรือไม่ด้วย
ขณะที่นายทวี ภูแพง อายุ 61 ปี ชาวบ้านหนองขาม ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เชื่อว่าเจ้าของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการทราบดีว่าบริเวณดังกล่าวมีปัญหาดินทรุดตัว เนื่องจากเป็นดินอ่อน แต่ก็ยังมีการก่อสร้างถนนในรูปแบบเดิมๆ โดยการโกยหน้าดินเก่าออก และนำดินมาบดอัดแบบธรรมดาและลาดยางเท่านั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงทำให้งบประมาณสูญเปล่า และไม่เชื่อว่าเป็นภัยธรรมชาติ เพราะจุดอื่นที่อยู่ในโครงการเดียวกันและอยู่ใกล้กันทำไม่ไม่พัง ดังนั้นจะต้องมีการตรวจพิสูจน์การบดอัดดินและคุณภาพของการก่อสร้างให้แน่ชัดด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังทราบว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการจะให้ผู้รับเหมาหยุดการก่อสร้าง และซ่อมแซมบริเวณที่เกิดการทรุดตัว โดยจะให้เบิกเงินได้เฉพาะที่ก่อสร้างเสร็จ แต่บริเวณที่มีการทรุดตัวและพังเสียหายกลับไม่ให้ทำต่อ และจะทำเป็นโครงการใหม่ หางบประมาณใหม่เข้ามาทำจึงทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าข้างและเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมาหรือไม่ เพราะจะยอมให้เบิกเงินส่วนอื่นๆ ได้ แต่จุดพังเสียหายตัดออกไม่ให้ทำ