มหาสารคาม - หลังฝนตกผืนป่าโคกหินลาดสมบูรณ์ ชาวบ้านโคกหนองโน จ.มหาสารคาม แห่เข้าป่าหาเก็บผักอีลอก ที่เร่งแทงยอดหลังฝนตก สร้างรายได้ให้งดงามวันละ 300-500 บาท ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียนก่อนเข้าสู่ช่วงทำนาปี
ที่ป่าสาธารณะโคกหินลาด ต.หนองโน จ.มหาสารคาม หลังจากเข้าสู่ฤดูฝน ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเริ่มออกหาของป่าในป่าสาธารณะ ที่เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเกตของชาวอีสาน ซึ่งเข้าไปในป่าสามารถหาอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ไข่มดแดง ดอกกระเจียว ลูกตาล ผักอีหลายชนิดตามฤดูกาล โดยเฉพาะพืชป่า “ต้นอีลอกหรือผักอีลอก” ที่มีลักษณะคล้ายบอนหรือสายบัว มักเกิดตามป่าโคก หรือป่าเบญจพรรณ จะแทงยอดเกิดขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านจะถือตะกร้าเดินเข้าป่าเก็บผักอีลอกไปกินและไปขายสร้างได้รายไม่ต่ำกว่าวันละ 300-500 บาท
นางสุรีรัตน์ เจริญศิริ ชาวบ้านสวนมอญ ต.หนองโน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เล่าว่า ตามดูวิถีชุมชนเข้าป่าหาเก็บ “ผักอีลอก” ผักป่าหายาก ที่จังหวัดมหาสารคาม หลังฝนแรกมาเยือนได้สร้างความชุ่มชื้นจนพืชพรรณในป่าชุมชนโคกหนองโน ผลิดอกออกผลจำนวนมาก ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มเข้าป่า เพื่อเก็บ “ผักอีลอก” ผักป่าหายากราคาแพงขาย สร้างรายได้งดงาม “ต้นอีกลอกหรือผักอีลอก” มีลักษณะคล้ายบอนหรือสายบัว มักเกิดตามป่าโคกหรือป่าเบญจพรรณจะแทงยอดขึ้นจำนวนมาก
“ผักอีลอก” จะเริ่มแทงยอดในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือในช่วงฝนแรก หากไม่มีฝนหรือปริมาณความชุมชื้นไม่เพียงพอ ผักอีลอกจะไม่แทงยอดโผล่พ้นดิน การเก็บผักอีลอกจะเลือกเวลาช่วงเช้า เพราะอากาศไม่ร้อน ไปตามพุ่มไม้เลื้อยบนพื้นดิน เมื่อเจอแล้วจะเด็ดบริเวณโคนต้น ผักอีลอกเป็นไม้ล้มลุกข้ามปี มีเหง้าในดิน ต้นกลมผิวขรุขระ ลำต้นอวบน้ำ ไม่มีแกน สูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร มีใบจากปลายก้าน 2-3 ใบ ส่วนก้านลายจุดด่างหรือแถบลาย สีเขียวน้ำตาลและดำ สลับกันโดยรอบโคนต้น
“ผักอีลอกมีรสชาติหวานอร่อย และอ่อนนุ่มคล้ายกินสายบัว ชาวบ้านจะลอกเปลือกออก ล้างน้ำแล้วนำไปขยำกับเกลือ จากนั้นจึงต้มจนสุก ก่อนนำมาทำเมนูเด็ดแกงแบบอีสานใส่ไข่มดแดง หรือต้มส้มใส่ยอดมะขาม มะขามเปียก การทำแกงผักอีลอกจะต้องต้มให้สุกเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดพิษและมีอาการแพ้เกิดผดผื่นคันได้”
นางสุรีรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าลดน้อยลง และภัยแล้งรุนแรง ทำให้ผักอีลอกลดน้อยลงจนเป็นผักที่หายากและมีราคาแพง ชาวบ้านจึงมักจะเก็บไว้กินเอง แต่หากนำไปขาย 1 มัดจะมีผักอีลอก 7-8 ต้น ขายอยู่ที่มัดละ 20 บาท ภายใน 1 วันสามารถเก็บขายสร้างได้รายไม่ต่ำกว่าวันละ 300-500 บาท ลูกค้าเจ้าประจำส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชุมชน ถือเป็นอาชีพเสริมตามฤดูกาล ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูทำนาปี ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนโคกหนองโน ที่มีชีวิตอยู่กับป่า หากินกับซุปเปอร์มาร์เก็ตตามธรรมชาติ มีอาหารให้ชาวบ้านได้เก็บกิน สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องดิ้นรนทิ้งถิ่นฐานไปหางานยังต่างถิ่น ขอเพียงช่วยอนุรักษ์สมบัติผืนป่าไว้ก็สามารถสร้างความมั่งคงให้แก่ชุมชนตลอดไป