พระนครศรีอยุธยา - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มออกประกาศห้ามประชาชนจับสัตว์น้ำจืดในช่วงฤดูวางไข่ เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ พร้อมทั้งอนุรักษ์สัตว์น้ำจืดไว้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (16 พ.ค.) ที่บริเวณท่าน้ำชัยยุทธ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ “ฤดูน้ำแดง” ประจำปี 2559 พร้อมทั้งนำประชาชนร่วมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดพื้นบ้านกว่า 4 แสนตัว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นปฐมฤกษ์ของการงดจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ช่วงระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม-15 กันยายน 2559 นี้ เป็นช่วงของการงดจับสัตว์น้ำจืดทุกชนิดที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ยกเว้นการทำประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง หรือการทำประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูวางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนของสัตว์น้ำ
โดยทางกระทรวงได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการทำการประมงในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่มีไข่ และเลี้ยงลูกไม่ให้ถูกทำลายไปมากจนเกินกำลังที่ธรรมชาติจะผลิตได้ โดยเฉพาะการสั่งให้งดทำการประมงด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ที่สามารถจับสัตว์น้ำในปริมาณมากๆ
รวมทั้งเครื่องมือที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง โดยจะอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงขนาดเล็กในการจับสัตว์น้ำเพียงเท่านั้น เช่น เบ็ด สวิง ช้อน ยอ และขนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงนั้นๆ
“ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ แต่ว่าความอุดมสมบูรณ์นี้ก็มีวันหมด เพราะฉะนั้นเราก็คงจะต้องช่วยกัน การที่ทางกรมประมง หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศห้ามนั้นไม่ได้เป็นการขัดประโยชน์ของพวกเรา แต่เป็นการที่จะรักษาผลประโยชน์ของพวกเราให้สามารถมีกินมีใช้ มีปลาน้ำจืดในการอุปโภคบริโภคได้นานขึ้น เราไม่ได้ห้ามทั้งหมด แต่จะห้ามเป็นบางอย่าง เพียงแต่จะห้ามเพื่อให้ปลาได้มีโอกาสที่จะขยายพันธุ์ และแพร่พันธุ์ต่อไปได้”
นายวิทยา ผิวผ่อง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างให้ความสำคัญ และพยายามที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำให้ยั่งยืน เนื่องจากในอนาคตการประมงของไทยจะต้องเข้าสู่ระบบสากล ดังนั้น หลายๆ ฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไว้ โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้ทางวิชาการเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปพัฒนา และขยายพันธุ์สัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย