ลำพูน - ภัยแล้งลามถึงนิคมฯ ภาคเหนือลำพูนแล้ว หลังน้ำกวง แหล่งน้ำหลักแห้งขอด ขณะที่การนิคมฯ ต้องตระเวนเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำชาวบ้านใกล้เคียง ก่อนต่อท่อยาวนับสิบกิโลเมตรสูบน้ำไม่ต่ำกว่า 8 แสน ลบ.ม.สำรองไว้ บอกถ้าไม่พอก็ต้องขอซื้อจากบ่อน้ำดิบเพิ่มอีก พร้อมเร่งเจาะบ่อบาดาลเพิ่มต่อเนื่อง
วันนี้ (22 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งที่ลุกลามขยายวงกว้างไปทุกหย่อมหญ้าในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน ที่เป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่สุดในภาคเหนือแล้ว เนื่องจากแม่น้ำกวง แหล่งน้ำหลักที่เคยใช้แห้งขอด ไม่มีน้ำดิบให้สูบอีกต่อไป ซึ่งล่าสุดนอกจากการนิคมฯ จะต้องเร่งเจาะบ่อบาดาล พร้อมตระเวนซื้อน้ำจากแหล่งน้ำชาวบ้านใกล้เคียงมาสำรองกันแล้ว
นายวิโรจน์ เรืองเลิศศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของการนิคมภาคเหนือ ที่มีพื้นที่ 1.788 พันไร่ มีบริษัทประกอบการหรือโรงงานอยู่ในพื้นที่กว่า 75 แห่ง มีแรงงาน 4-5 หมื่นคน รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท
“น้ำในแม่น้ำกวงขณะนี้ไม่มีไหลมาแล้ว เขื่อนแม่กวงไม่มีน้ำที่จะปล่อยมา เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย อยู่ที่ระดับต่ำไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อโรงงาน”
ทั้งนี้ กนอ.ลำพูนตั้งเป้าซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบ หรือสระของประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 8 แสนลูกบาศก์เมตร ในราคาคิวละ 14 บาท โดยการใช้ท่อสูบน้ำลากสายยาวไปตามลำน้ำแม่กวงระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำมาเข้าระบบแหล่งน้ำสำรองภายในนิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหา แต่หากยังไม่เพียงพอก็ยังมีบ่อน้ำดิบสำรองของชาวบ้านที่เราจำเป็นต้องไปเจรจาเพื่อขอซื้อน้ำเพิ่ม คาดว่าต้องใช้งบซื้อน้ำในครั้งนี้สูงถึงกว่า 11 ล้านบาท
นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นขณะนี้ได้ซื้อ และสูบน้ำมาสำรองแล้วประมาณ 4 แสนลูกบาศก์เมตร ยังเหลืออีก 2 แสนกว่าๆ และคงต้องซื้อน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นเราก็ยังมีน้ำสำรอง คือน้ำจากการ Reuse หรือน้ำเก่านำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่อีกประมาณวันละ 5 พันกว่าลูกบาศก์เมตร รวมทั้งน้ำจากบ่อบาดาลอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตอนนี้กำลังเร่งขุดบ่อบาดาลเพิ่ม
ด้านนายณรงค์ อ่อนสะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากในส่วนของจังหวัดลำพูนมีผลกระทบหลายด้าน กรณีพี่น้องประชาชน ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเอาน้ำไปให้เพิ่มมากขึ้นเพราะมีความเดือดร้อนมาก ซึ่งลำพูนมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 7 อำเภอ 28 ตำบล 119 หมู่บ้าน ต้องเอาน้ำไปให้ 10 ล้านลิตร แต่น้ำอุปโภคบริโภคนั้น ถึงวันนี้ยืนยันได้ว่าน้ำประปาเพียงพออย่างแน่นอน
ส่วนน้ำประปาหมู่บ้านเริ่มมีปัญหาเพราะน้ำในบ่อเริ่มแห้ง ก็ต้องเร่งนำรถน้ำจากทุกภาคส่วนที่มีไปให้พี่น้องประชาชน ต้องบริหารจัดการรถน้ำให้เพียงพอ และทันต่อความต้องการของประชาชน แม้จะมีไม่มากนักก็ตามทั้งรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รถของทหาร เป็นต้น
นายณรงค์กล่าวอีกว่า ทางด้านน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรม เมื่อช่วงสงกรานต์โรงงานฯ ปิดก็ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำไปพอสมควร ต่อไปก็ต้องบริหารจัดการใช้น้ำในบ่อที่มี ซึ่งตอนนี้ก็มีไม่มากแล้วจาก 4 แสน ลบ.ม.เหลือประมาณ 2 แสน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งก็ใช้น้ำในบ่อบาดาล รวมถึงที่ต้องซื้อจากบ่อเอกชน ซึ่งยังพอบริหารได้ เพียงแต่ทำให้ต้นทุนที่จะทำให้น้ำสะอาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำรีไซเคิลนั้นจำเป็นต้องใส่สารเพิ่มเข้าไปเพื่อบำบัดให้สะอาด มีคุณภาพ เพราะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนั้น 80 เปอรเซ็นต์ต้องใช้น้ำสะอาดในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม
“แต่ถึงวันนี้ยืนยันว่ายังพอบริหารจัดการให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆได้” นายณรงค์กล่าว