ระยอง - นายกสมาคมประมงระยอง ครวญการขออนุญาตประมงพาณิชย์ และเรื่องการขออนุญาตแรงงานต่างด้าวประสบปัญหา ผู้ประกอบการต้องเดินทางไปติดต่อหลายที่ ทำให้เรือประมงต้องหยุดออกเรือหลายวัน รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ทำการสมาคมประมงระยอง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง นายสงกรานต์ แสงจันทร์ ประมง จ.ระยอง เชิญนายไพรฑูรย์ รัตนพรวารีสกุล นายกสมาคมประมงระยอง และผู้ประกอบการเรือประมง ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการออกอนุญาตประมงพาณิชย์ ระเบียบข้อบังคับ ข้อกฎหมาย และให้ความรู้ Logbook และ mcpd ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป การทำประมงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมาย โดยเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป จะต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยจะต้องออกไปทำการประมงในเขตพื้นที่ทะเลนอกชายฝั่งของน่านน้ำไทย ปัจจุบัน กำหนดไว้ที่ 3 ไมล์ทะเลขึ้นไป ต่อจากนี้ชาวประมงต้องระมัดระวังเรื่องเอกสารทำการประมง เพราะอาจจะมีมาตรการตรวจเข้ม และโทษทางปกครอง และทางแพ่งอย่างรุนแรง
ซึ่งเรือแต่ละลำต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ บัตรใช้แทนใบอนุญาตใช้พกไว้ติดตัวบนเรือประมง เครื่องหมาย QR code ติดที่กระจกหน้าห้องควบคุมเรือ เครื่องหมายประจำเรือ เขียนไว้บนกาบซ้าย และกาบขวาของเรือให้เห็นเด่นชัด ติดตั้งระบบติดตามเรือ VMS ในเรือประมงตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป และสมุดบันทึกการทำประมง (Logbook)
โดยการออกใบอนุญาตครั้งนี้กรมประมงเป็นผู้พิจารณาในการอนุญาต ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตตามประเภทเครื่องมือให้สอดคล้องต่อขีดความสามารถในการทำการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งแล้วแต่ชาวประมงจะยื่นตามความสำคัญ ผลการพิจารณาออกใบอนุญาตใน จ.ระยอง ดังนี้ อวนลากคู่ 2 ฉบับ อวนลากเดี่ยวแผ่นตะเฆ่ (ลากปลา) 15 ฉบับ อวนลากเดี่ยวแผ่นตะเฆ่ (ลากกุ้ง) 7 ฉบับ อวนล้อมจับปลากกะตัก 47 ฉบับ อวนล้อมจับ (อวนดำ) 92 ฉบับ อวนล้อมจับปลาโอ 26 ฉบับ อวนครอบปลากะตัก 34 ฉบับ อวนครอบหมึก 359 ฉบับ อวนช้อน/ยกปลากะตัก 5 ฉบับ อวนลอยปลา 76 ฉบับ อวนจมปู/กุ้ง/หมึก 1 ฉบับ ลอบปลา 18 ฉบับ ลอบปู 25 ฉบับ เรือปั่นไฟ 264 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 971 ฉบับ
ทั้งนี้ นายไพรฑูรย์ รัตนพรวารีสกุล นายกสมาคมประมงระยอง กล่าวภายหลังการประชุมว่า เรือประมงระยองที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปมีจำนวน 900 ลำ ฝากเรียนผู้ออกกฎหมายว่า ทุกวันนี้ชาวประมงประสบปัญหามากในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การออกกฎหมายทุกฉบับหากเป็นไปได้ควรที่จะมีการปรึกษาหารือก่อนที่จะมีการบังคับใช้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันต้องยอมรับว่าแนวทางการปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เช่น ปัญหาแรงงาน ปัญหาการออกทำการประมง การออกใบอนุญาตต่างๆ ที่ส่งผลต่อการประมง ทุกวันนี้คนตกปลาก็ยังไม่สามารถทำได้ และเป็นไปได้ยาก เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ปัจจุบัน ปัญหาที่ออกมาบังคับใช้มันมากเกินไป จึงฝากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหากเป็นไปได้ในการออกกฎหมายมาบังคับใช้ก็ควรให้ชาวประมงเดินไปได้ด้วยกัน ปัญหาเรือประมง คือ เรื่องแรงงาน รองลงมาคือ ปัญหาการออกบัตรที่ต้องเสียเวลาขอที่หนึ่ง ไปต่ออีกที่หนึ่ง จะเอาใบอนุญาตก็ต้องไปเอาอีกที่หนึ่ง ไม่สามารถเสร็จได้ในวันเดียว ทำให้เรือประมงต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย หยุดครั้งละ 4-5 วัน เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวนหลายบาท จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย