บุรีรัมย์ - วัฒนธรรมบุรีรัมย์จัดเสวนาให้ความรู้เรื่องความเป็นมาและความสำคัญ “ประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย” อายุกว่า 1,000 ปี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน เยาวชนร่วมอนุรักษ์มรดกของชาติ หลังถูกลักลอบนำไปประมูลขายต่างประเทศมูลค่าหลายล้าน เผยจากข้อมูลสืบค้นมีประติมากรรมสัมฤทธิ์ในลักษณะดังกล่าวถูกนำออกนอกประเทศ 20 ชิ้น
วันนี้ (28 มี.ค.) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์จัดเสวนาเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย” ที่ห้องประชุมศิวาลัย ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และความสำคัญของประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย
อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กร ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญ และร่วมกันดูแลอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นมรดกของชาติร่วมกัน หลังได้ผู้ลักลอบนำ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย อายุกว่า 1,000 ปี ไปประมูลขายในต่างประเทศมูลค่าหลายล้านบาท จนเกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการทวงคืนกลับมาเป็นสมบัติของชาติ
จากข้อมูลและหลักฐานการสืบค้นหาแหล่งที่มาจากผู้เกี่ยวข้อง มีความเป็นไปได้ว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ถูกประมูลขายในต่างประเทศดังกล่าวได้ถูกลักลอบขุดออกไปจากปราสาทปลายบัด 2 บ้านโคกเมือง ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย ประมาณ พ.ศ. 2507 ทั้งยังพบประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัยในลักษณะดังกล่าวถูกลักลอบขุดนำออกนอกประเทศกว่า 20 ชิ้นอีกด้วย
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้ได้มีข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้ามารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการปิดแผ่นป้ายที่เป็นภาพพระโพธิสัตว์หลายองค์ที่ถูกระบุว่ามีการนำออกนอกประเทศ พร้อมทั้งมีการนำภาพและข้อมูลจากบทความของเอมมา ซี บังเกอร์ มาติดตั้งแสดงให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ชมและศึกษาด้วย
นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงาน องค์กร ประชาชน และเยาวชน ได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัยอย่างถูกต้อง ทั้งจะได้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์หวงแหนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นสมบัติของชาติร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ประมูลขายในต่างประเทศนั้นมาจากเขาปลายบัด 2 จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ของทางกรมศิลปากร ส่วนที่มีกระแสให้มีการทวงคืนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน