บุรีรัมย์ - วัฒนธรรมบุรีรัมย์ เผยเร่งสืบค้นหาแหล่งที่มาของวัตถุโบราณ “รูปปั้นอวโลกิเตศวร” อายุ 1,200 ปี ที่บริษัทต่างประเทศเปิดประมูลหลายล้าน ระบุเบื้องต้นเป็นวัตถุโบราณที่ถูกนำออกไปจากประเทศไทยจริงตั้งแต่ปี 2507 แต่ยังไม่ยืนยันว่ามาจากพื้นที่ อ.ประโคนชัย หรือไม่ ต้องรอการตรวจพิสูจน์จากกรมศิลปากร
วันนี้ (25 ก.พ.) นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่มีการโพสต์ทางโซเชียลมีเดียว่า มีบริษัทต่างประเทศเปิดประมูลวัตถุโบราณ “รูปปั้นอวโลกิเตศวร” ประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือ ราว 1,200 ปี มูลค่าหลายล้านบาท และระบุด้วยว่า วัตถุโบราณชิ้นดังกล่าวถูกนำมาจากพื้นที่อำเภอประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ว่า ล่าสุดขณะนี้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กำลังเร่งสืบค้นข้อมูลแหล่งที่มาของรูปปั้นดังกล่าว รวมถึงประสานกับทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา แหล่งเก็บรวบรวมวัตถุโบราณว่ามีวัตถุโบราณชิ้นใดหายไปหรือไม่
ในเบื้องต้น จากข้อมูลทราบว่า วัตถุโบราณดังกล่าวได้ถูกนำออกไปจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2507 และจากข้อมูลพบว่า มีการเปิดประมูลจริงที่ต่างประเทศ ส่วนเรื่องราคานั้นขึ้นอยู่กับการสร้างกระแสข่าวเพื่อปั่นราคา หากมีกระแสข่าวดังจะทำให้มูลค่าของวัตถุดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัตถุโบราณที่มีการประมูลผ่านโซเชียลมีเดียดังกล่าวได้มาจากพื้นที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ จริงหรือไม่ เพราะต้องรอการตรวจพิสูจน์ หรือหาแหล่งที่มาของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่หากผลตรวจพิสูจน์ยืนยันแล้วพบว่า เป็นวัตถุโบราณที่หายไปจากพื้นที่จริง ผู้ที่ครอบครองจะต้องถูกกระแสกดดันจากสังคมให้นำกลับมาคืนยังแหล่งที่มา
ส่วนการตรวจพิสูจน์ทางกรมศิลปากรจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการการตรวจสอบตามขั้นตอน รวมถึงตรวจสอบวัตถุโบราณของจริงที่มีการประมูล และแนวทางขอคืนนั้นต้องรอนโยบายของทางอธิบดีกรมศิลปากรอีกครั้ง
นายชูชาติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีทำให้เด็กเยาวชนหันมาสนใจ และเกิดความรักหวงแหนทรัพย์สมบัติของชุมชน หรือประเทศชาติ ซึ่งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์มีโบราณสถานโบราณวัตถุอยู่กว่า 200 แห่ง แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของวัตถุโบราณที่เป็นมรดกอันล้ำค่าเท่าที่ควร
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจะเป็นการปลุกกระแสให้วัยรุ่น เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาอนุรักษ์หวงแหนโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุต่างๆ มากขึ้น