บุรีรัมย์ - หัวหน้าอุทยานฯ ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ เผยยังยืนยันไม่ได้ว่า “รูปปั้นอวโลกิเตศวร” วัตถุโบราณอายุ 1,200 ปี ที่ปรากฏในเฟซบุ๊กว่าบริษัทต่างประเทศเปิดประมูลในราคาหลายล้านและอ้างแหล่งที่มาจากอ.ประโคนชัย บุรีรัมย์ เป็นของจริงหรือปลอมและเก่าแก่จริงหรือไม่ ชี้ต้องพิสูจน์หลายขั้นตอน แต่จากข้อมูลเคยพบในพื้นที่บุรีรัมย์และโคราช เรียกว่า “ประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย”
วันนี้ (23 ก.พ.) จากกรณีที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่ามีบริษัทต่างประเทศเปิดประมูลวัตถุโบราณ “รูปปั้นอวโลกิเตศวร” ในราคานับล้านบาท ทั้งมีการระบุด้วยว่าวัตถุโบราณชิ้นดังกล่าวถูกนำมาจากพื้นที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ นั้น
นายวสันต์ เทพสุริยานนท์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโบราณสถาน 2 แห่ง คือ ปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ และปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากข้อมูลและภาพที่ปรากฏในเฟซบุ๊กว่ามีการประมูลวัตถุโบราณเป็น “รูปปั้นอวโลกิเตศวร” เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์นั้น ตามข้อมูลที่ระบุไว้จะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ รูปแบบศิลปะสามารถเปรียบเทียบได้กับภาพที่อยู่ในฐานข้อมูลสมุดภาพของ “หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล” ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่ภาพวัตถุโบราณที่ปรากฏนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของจริงหรือปลอมและเก่าแก่จริงหรือไม่ ต้องมีการพิสูจน์ตามขั้นตอน
ส่วนแนวทางการดำเนินการที่จะพิสูจน์หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของอธิบดีกรมศิลปากรที่จะมอบหมายมาว่าจะให้ดำเนินอย่างไร ในส่วนพื้นที่คงให้ข้อมูลได้เพียงว่าลักษณะประติมากรรมดังกล่าวเป็นประติมากรรมในกลุ่มประโคนชัยที่เคยพบ และมีข้อมูลทางวิชาการเผยแพร่อยู่ในหลายที่ ทั้งในวารสารศิลปากรก็เคยมีการเขียนถึงประติมากรรมดังกล่าว และในห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรมีให้ศึกษาด้วยเช่นกัน หากใครสนใจสามารถเข้าไปสืบค้นดูได้
แต่ในเบื้องต้นไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าภาพโบราณวัตถุที่ปรากฏในเฟซบุ๊กที่มีการนำมาประมูลนั้นเป็นโบราณวัตถุจริงหรือไม่ และมีความเก่าแก่จริงหรือเปล่า เพราะเห็นแค่ในรูปภาพ ประกอบกับในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถปรับแต่งรูปภาพได้ ดังนั้นจะต้องมีการพิสูจน์แหล่งที่มาและอีกหลายๆ อย่าง เพราะประติมากรรมในรูปแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณไม่ได้ปรากฏในประเทศไทยเพียงที่เดียว แต่มีกระจายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง
นายวสันต์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลทางวิชาการเคยมีการพบวัตถุโบราณในลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ โดยเรียกว่าเป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัย อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์ได้ว่าภาพที่ปรากฏในเฟซบุ๊กนั้นเป็นวัตถุโบราณจริง ขั้นตอนการจะเอาวัตถุโบราณกลับคืนมานั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของทางกรมศิลปากรว่าจะดำเนินการอย่างไร