ศรีสะเกษ - ภัยแล้งกระทบสวนผลไม้ 3 อำเภอศรีสะเกษ สร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท สั่งรองผู้ว่าฯ ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ ขณะอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งเหลือน้ำใช้ได้ 90 วัน คุมเข้มพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาน้ำดื่ม พร้อมเร่งทำประปาสนามผลิตน้ำดื่มช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายไม่ต้องซื้อน้ำบริโภคหน้าแล้ง
วันนี้ (14 มี.ค.) นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.ศรีสะเกษว่า กระทรวงมหาดไทยได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่ให้ประชาชนขาดแคลน ฉะนั้นวันนี้เราได้เตรียมการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไว้แล้ว
โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของ จ.ศรีสะเกษมีอยู่ประมาณ 50% เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนหัวนา กับเขื่อนราษีไศล มีน้ำ 75% แต่ขณะนี้อากาศเริ่มร้อน อัตราการใช้น้ำค่อนข้างสูง
จากสถิติปริมาณน้ำเก็บกักดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม และคาดว่าใน 30 วันนี้ศรีสะเกษจะไม่มีปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ยกเว้นน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเรามีอ่างเก็บน้ำที่สามารถรองรับการทำนาและปลูกพืชได้ประมาณ 50,000 ไร่ โดยไม่ให้ปลูกพืชเกินกว่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ สวนผลไม้จำนวนมากใน 3 อำเภอ คือ อ.ศรีรัตนะ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ขุนหาญ ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาทนั้นได้มอบให้ นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง ด้วยการนำน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ทุเรียนกำลังตกดอกเรียกว่าเริ่มเป็นมะเขือแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องเน้นให้การช่วยเหลือ
ส่วนเรื่องน้ำดื่มนั้น พี่น้องประชาชนไม่ค่อยได้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเอาไว้ดื่ม ต้องหันไปซื้อน้ำดื่ม จึงได้ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเข้าไปควบคุมและตรวจสอบ ป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาน้ำดื่ม พร้อมทำน้ำประปาสนามจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53 กับหน่วยของสภากาชาดไทย ซึ่งมีรถผลิตน้ำประปาน้ำดื่มไปให้บริการพี่น้องประชาชน
โดยได้เร่งดำเนินการตามความต้องการของประชาชน เริ่มจาก อ.ขุนหาญ และ อ. ปรางค์กู่ ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม พร้อมกันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมสร้างอาชีพสร้างรายได้ในช่วง 90 วันนี้ก่อนถึงฤดูกาลทำนาด้วย