xs
xsm
sm
md
lg

โคราชประกาศภัยพิบัติแล้งเพิ่มเป็น 10 อำเภอ สองอำเภอโคม่าน้ำหมดเกลี้ยง-เจาะบาดาลเจอเค็ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลำห้วยชันโพง ต.มะค่า อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา แห้งดินแตกระแหง เหลือเพียงหญ้าแห้งไม่มีน้ำแม้แต่จะให้สัตว์เลี้ยงได้กิน วันนี้ ( 28 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแล้งทวีรุนแรง ประกาศภัยพิบัติเพิ่มเป็น 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรเสียหาย 4.6 แสนไร่ ผู้ว่าฯ เผย 2 อำเภอโนนไทยและพระทองคำ วิกฤตหนักน้ำผิวดินหมดเกลี้ยง เจาะบาดาลเจอเค็ม ต้องใช้รถขนน้ำออกแจกอย่างเดียวเพื่อให้พ้นแล้งไปให้ได้ ขณะที่ 9 อ่างมีน้ำน้อยต้องติดตามใกล้ชิด ส่วนอ่างฯ ลำเชียงไกรแห้งไม่สามารถวัดปริมาณได้ ด้านเขื่อนมูลบน เหลือแค่ 33%

วันนี้ (28 ม.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการทั้งจังหวัดนครราชสีมา ประจำเดือนมกราคม 2559

นายวิเชียรกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.นครราชสีมา ว่าล่าสุดจังหวัดนครราชสีมามีการประกาศเขตภัยพิบัติแล้งหรือประกาศเขตให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็น 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 466,528 ไร่เศษ ประกอบด้วย อ.โนนไทย, อ.โนนแดง, อ.ขามสะแกแสง, อ.ด่านขุนทด, อ.คง, อ.บัวใหญ่, อ.เทพารักษ์, อ.บัวลาย, อ.พระทองคำ และ อ.แก้งสนามนาง

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่วิกฤตจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีจำนวน 9 อ่าง เป็นอ่างขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างฯ ลำมูลบน อ.ครบุรี ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ เหลือ 47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. และมีอ่างฯ ขนาดกลางอีก 8 อ่าง เช่น อ่างฯ ห้วยยาง อ.เมืองนครราชสีมา, อ่างฯ ลำสำลาย อ.ปักธงชัย, อ่างฯ ห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด, อ่างฯ ลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย, อ่างฯ หนองกก อ.พระทองคำ, อ่างฯ ห้วยตะคร้อ อ.คง, อ่างฯ ห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง และอ่างฯ กระโตน อ.ประทาย

“วิกฤตหนักที่สุด คือ อ่างฯ ลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย และอ่างฯ หนองกก อ.พระทองคำ ปริมาณน้ำไม่สามารถวัดได้เป็นศูนย์ ซึ่งมีการติดตามสภาพน้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา”

ส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 111 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36% ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ในพื้นที่ 5-6 อำเภอ รวมทั้งหล่อเลี้ยงตัวเมืองโคราช และการประปาภูมิภาคนั้นน่าจะเพียงพอไปถึงเดือนเมษายนนี้

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการชาวโคราชสร้างฝายสู้ภัยแล้ง ขณะนี้สร้างฝายไปได้ 185 ฝายแล้ว และให้นโยบายรณรงค์สูบน้ำเข้ากักเก็บเพื่อใช้ทำน้ำประปาในช่วงฤดูแล้ง โดยขณะนี้สูบน้ำกักเก็บได้แล้วประมาณ 32.9 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นน้ำผิวดิน

ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีน้ำผิวดินเลย เช่น อ.โนนไทย, อ.พระทองคำ จำเป็นต้องแจกจ่ายน้ำ ทั้ง 10 อำเภอนี้ไปประมาณ 2.6 ล้านลิตร ส่วนกรณีที่น้ำผิวดินหมดเราได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือเป่าล้างให้

ขณะนี้ตนและรองผู้ว่าฯ ได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาเป็นรายหมู่บ้านในพื้นที่ 10 อำเภอ ดังกล่าว ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 59 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งหนัก เช่น อ.พระทองคำ, อ.โนนไทย, อ.ด่านขุนทด, อ.ขามสะแกแสง ซึ่งน้ำผิวดินไม่มีเลย เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้เจอแต่น้ำเค็มไปหมด ฉะนั้นต้องใช้รถบรรทุกน้ำไปแจกเพื่อให้ผ่านพ้นแล้งนี้ไปให้ได้ก่อนโดยไล่ทีละหมู่บ้านทีละอำเภอไป จากนั้นเราจะเอาปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งหมดมาวางแผนแก้ไขปัญหาในปีหน้าและปีต่อๆ ไป

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา  ประชุมติดตามสถานการณ์ภัยใกล้ชิด

กำลังโหลดความคิดเห็น