อุดรธานี - เกษตรกรอำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ประสบความสำเร็จจากการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกผักไร้ดิน สร้างแบรนด์ “นะโม โมเดิร์น กรีน” ใช้พื้นที่เพียง 2 งานปลูกผักไร้ดินปลอดสารพิษ หรือผักไฮโดรโปรนิกส์ จำหน่ายทั้งผักสดและแปรรูปเป็นสลัดเพื่อสุขภาพ ขายตามตลาดเกษตรกร ส่งตามห้างร้านและผ่านโซเชียล มีรายได้เข้ากลุ่มมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน
นางกาญจนา ลากุล เกษตรกรบ้านคำตานา ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่ม 7 ครอบครัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักไร้ดิน มีระบบการบริหารจัดการน้ำภายในโรงเรือนแบบกางมุ้ง ไม่มีการใช้สารเคมี ผักที่ได้จึงปลอดสารพิษ ปลูกบนพื้นที่เพียง 2 งาน เช่น ผักวอเตอร์เครส หรือสลัดน้ำ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท ผักสลัดอื่นๆ เช่น ผักบัตเตอร์เฮด ผักเรดโอ๊ก ผักกรีนโอ๊ก จำหน่ายกิโลกรัมละ 100-110 บาท
หากจำหน่ายที่หน้าสวน จำหน่ายต้นละ 10 บาท วางจำหน่ายภายนอกต้นละ 15 บาท มีผักออกจำหน่ายต่อเดือนกว่า 8,500 ต้น ผักอื่นๆ ก็ตามฤดูกาล เช่น คะน้า มะเขือเทศ กวางตุ้ง ผักบุ้ง ราคาขายตามท้องตลาด โดยผักปลอดสารพิษของทางกลุ่มจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “นะโม โมเดิร์น กรีน”
นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นสลัดเพื่อสุขภาพ มีส่วนผสมทั้งผักสลัด แครอท แอปเปิล และมะเขือเทศ พร้อมน้ำสลัดผลไม้หลากหลายรส เช่น น้ำสลัดพริกไทยดำ น้ำสลัดงาดำ และน้ำสลัดแอบเปิล ขายเป็นกล่อง กล่องละ 30 บาท วางจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกรทุกเช้าวันศุกร์และวันเสาร์ เดือนละ 4 ครั้ง มีรายได้ครั้งละ 15,000 บาท
ทั้งยังส่งตามห้างและร้านอาหารประเภทสลัดภายในเมืองอุดรธานี เช่น วิลล่ามาร์เก็ต สาขาตึกคอมอุดรธานี ร้านไอวิว ร้านกู๊ดวิว ร้านหมูณัฐ ร้านซิซซ์เล่อร์ ร้านซิปสลัด เป็นต้น จำหน่ายผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก มีลูกค้าสั่งซื้อต่อเนื่อง มีรายได้เข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมทั้งเดือนมากกว่า 100,000 บาท
นางกาญจนาเปิดเผยอีกว่า ระบบการปลูกผักของกลุ่มจะใช้น้ำประปาผสมธาตุอาหารหล่อเลี้ยงรากผัก การใช้น้ำแต่ละรอบใช้ปริมาณ 500 ลิตรต่อการปลูก 30 วัน จึงระบายออกมากักเก็บไว้สำหรับรดมะเขือเทศต่อ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบของสลัดเพื่อสุขภาพด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ผลจากการปลูกผักปลอดสารพิษจนประสบผลสำเร็จทำให้นางกาญจนาได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2557 สาขา 4 ด้านพืชผักปลอดภัย ซึ่งมีการส่งผักไปตรวจที่ศูนย์วิทยาการแพทย์เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนเป็นประจำ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค จนได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) พ.ศ. 2555 หรือมาตรฐาน Q
นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการดำเนินกิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักไร้ดิน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนความรู้เรื่องบัญชีและการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สนับสนุนการสร้างโรงเรือน GMP สำนักงานอุตสาหกรรมภาค 4 อุดรธานี ให้ความรู้เรื่องการทำบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ระบบบัญชี และพัฒนาชุมชนกำลังผลักดันให้เป็นสินค้า OTOP ระดับจังหวัดอีกด้วย