xs
xsm
sm
md
lg

สู้แล้งซ้ำซาก! อบต.สุรินทร์พลิกทำเลเลี้ยงสัตว์เป็น “ธ.ผักปลอดสารพิษ” สร้างรายได้ชุมชนทั้งปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อบต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พลิกทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะเป็น“ธนาคารผักปลอดสารพิษ” หนุนงบฯขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำ ปลูกผักได้ตลอดทั้งปีสู้ภัยแล้งซ้ำซาก สร้างรายได้งามสู่ชุมชน กว่า 200 ครัวเรือน วันนี้ ( 28 ม.ค.)
สุรินทร์ - อบต.สังขะ พลิกทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ สร้าง “ธนาคารผักปลอดสารพิษ” หนุนงบฯ ขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงปลูกผักได้ตลอดทั้งปีเพื่อสู้ภัยแล้งซ้ำซาก สร้างรายได้งามสู่ชุมชน กว่า 200 ครัวเรือน ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงนี้ผักให้ผลผลิตอย่างเต็มที่

วันนี้ (28 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ได้ดำเนินการปรับพื้นที่สาธารณะทำเลเลี้ยงสัตว์ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่รกร้างว่างเปล่าสร้างเป็นธนาคารผักปลอดสารพิษ ส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักปลูกพืชอายุสั้น เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา ข้าวโพด ฯลฯ เป็นศูนย์กลางของชุมชน สู้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ด้วยการสนับสนุนงบประมาณขุดเจาะบ่อบาดาล และสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน ได้มีน้ำปลูกพืชได้ตลอดทั้งปีและมีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวหลังทำนาปีอีกด้วย ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศหนาวเย็นทำให้ผักที่ปลูกไว้สวยงามให้ผลผลิตอย่างเต็มที่

นายเสมียน บุญเลิศ ประธานธนาคารผักปลอดสารพิษ และ ส.อบต.ม.6 กล่าวว่า ปีนี้ทาง อบต.สังขะไม่เก็บค่าน้ำ ปีที่ผ่านมาเก็บล็อกละ 100 บาทต่อเดือน ตนและชาวบ้านปลูกผักขายมีรายได้ครอบครัวละ 25,000 บาทขึ้นไป เป็นรายได้มากกว่าทำนาเยอะ โครงการธนาคารผักปลอดสารพิษเป็นของ อบต.สังขะ สนับสนุน ตนปลูกผักกาด ข้าวโพด และพืชผักต่างๆ เนื้อที่ตรงนี้เดิมเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ มีการปรับพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกผักตั้งแต่ปี 2536 ชาวบ้านบ้านแบกจานมาปลูกทุกหลังคาเรือน เนื้อที่แปลงปลูกผัก 16 ไร่ แปลงปลูกข้าวโพด 36 ไร่ และมีการขยายอีกเพื่อให้ชาวบ้านทำประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ต้องกลัวภัยแล้ง เพราะมีการเจาะน้ำบาดาล และสูบน้ำจากสระข้างบนอีก 2 แห่ง ชาวบ้านมีรายได้ดีกว่าการทำนา ตนปลูกและนำไปขายเองกับแม่บ้านที่ตลาดเทศบาลตำบลสังขะที่จัดสรรพื้นที่สำหรับจำหน่ายผักปลอดสารพิษของชาวบ้าน ถือว่าเป็นการสู้ภัยแล้งได้แบบสบายๆ ตนและชาวบ้านที่นี้ไม่รู้สึกกลัวภัยแล้งอีกเลย

นางสงวน ดำเนิน อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 46 ม.6 บ้านแบกจาน ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า การปลูกผักขายคือรายได้หลักของชาวบ้านที่นี้ มีแตงกวา ข้าวโพด ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง และกะหล่ำดอก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ขับรถผ่านไปมาบนถนนสายสุรินทร์-สังขะ ก่อนเข้าตัว อ.สังขะ จะแวะซื้อกัน มีทั้งขาประจำบ้าง ขาจรบ้าง ผักที่นำมาขายปลูกเองทั้งหมดปลอดสารพิษ มีรายได้จากการขายผักข้างทางวันละ 400-500 บาท ถือเป็นรายได้ดีไม่ต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ









กำลังโหลดความคิดเห็น