เชียงราย - เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ มฟล.ย้ำ สป.จีนไม่มีนโยบายก่อสงครามค่าเงิน ย้ำสัมพันธ์ไทยแน่นแฟ้น ไม่ก้าวก่ายกิจการภายในแน่ ดึงร่วมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเล หวังโปรเจกต์รถไฟไทยลุล่วงเร็ววัน พร้อมชี้ช่องพัฒนาสินค้าเกษตรกรเข้าอี-คอมเมิร์ซ
วันนี้ (29 ก.พ.) นายนิ่ง ฟู่ขุ่น เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดขึ้น ณ หอประชุมสมเด็จย่า โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. และผู้เกี่ยวของเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายนิ่ง ฟู่ขุ่น ได้เริ่มต้นบรรยายถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และมีความผูกพันแนบแน่นกับพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจน้ำมันในอดีตจีนก็ยอมขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้ไทยในราคามิตรภาพ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จีนก็ยืนกรานคงค่าเงินหยวนเพื่อไม่ให้กระทบกับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย
และเมื่อเกิดวิกฤตอื่นๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ฯลฯ ประเทศไทยก็ให้การช่วยเหลือ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงไปสร้างโรงเรียนให้ด้วย ฯลฯ
“เราจึงเสมือนพี่น้องกัน และเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบภัยอีกฝ่ายก็จะเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม”
เอกอัครราชทูต สป.จีน ประจำประเทศไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าการค้าปีละกว่า 75,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2014 ก็มีคนจีนเข้ามาประเทศไทยกว่า 4.7 ล้านคน และปี 2015 มีเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม พบว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีน ยังไปไม่ถึงตามเป้าที่ทั้งสองฝ่ายวางไว้ ทำให้ต้องมีการแสวงหาความร่วมมือกันต่อไป โดยจีนยังให้ความสำคัญต่อไทยมาก และเป็นอันดับต้นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน
“แม้เราจะมีระบบการเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ แตกต่างกัน แต่จีนให้ความเคารพ และมีนโยบายไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของไทยไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร”
นายนิ่ง ฟู่ขุ่น ระบุต่อว่า จีนมีนโยบายร่วมมือกับไทยหลายด้าน คือ 1. มุ่งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา 2 ประเทศให้เชื่อมโยง และพัฒนาไปร่วมกัน ปัจจุบันจีนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหมทางทะเล กำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป ซึ่งตั้งเป้าจะร่วมมือกับประเทศตามรายทาง รวมถึงไทยด้วย โดยมุ่งพัฒนาแบบรวมกลุ่ม และชนะไปด้วยกัน ไม่ใช่พัฒนาไปตามลำพังประเทศเดียว โดยทางจีนเองมีวิสาหกิจ และบริษัทที่มีศักยภาพไปลงทุนในต่างประเทศเป็นมูลค่ามาก ซึ่งที่ผ่านมายังลงทุนในประเทศไทยน้อย จึงมีช่องทางแสวงหาความร่วมมือร่วมกันต่อไปได้อีก
2. มุ่งร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยโครงการใหญ่ๆ เพราะโครงการใหญ่ๆ จะเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมืออื่นในอนาคต โดยเฉพาะความร่วมมือสร้างเส้นทางรถไฟในประเทศไทย ซึ่งจีนหวังว่าจะประสบความสำเร็จ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่จีนยืนยันเรื่องความเสมอภาค อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนตามเส้นทางรถไฟ ฯลฯ จึงคาดหวังว่าความร่วมมือจะลุล่วงในเร็ววัน
3. มุ่งร่วมมือทางการค้าการลงทุน ปัจจุบันจีนใช้ระบบการค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์-อินเทอร์เน็ต หรืออี-คอมเมิร์ซ จนประสบความสำเร็จ โดยในปี 2014 มีการค้าขายด้านเครื่องจักรกลผ่านอี-คอมเมิร์ซสูงถึง 28.60% และยังกระจายไปยังการค้าปลีก ในปี 2015 มีการค้าอี-คอมเมิร์ชเคลื่อนที่มากถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมามีการขยายไปสู่สินค้าภาคการเกษตร พบว่าทำให้มียอดขายรวมกันแล้วกว่า 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“มีตัวอย่างวันที่ 11 พ.ย.ซึ่งถือเป็นวันคนโสดในจีน พบมีการสั่งซื้อสินค้าในวันดังกล่าวสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเกิดสถิติโลก 2 ประการ คือ มีคนสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศมากถึง 30 ล้านคน และมีภูมิภาคที่ค้าขายด้วยมากถึง 232 แห่ง”
นายนิ่ง ฟู่ขุ่น บอกว่า สาเหตุที่ยกตัวอย่างเรื่องนี้เพราะสามารถใช้พัฒนาศักยภาพการค้าไทย-จีนผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ เพื่อสินค้าการเกษตรของไทย ซึ่งจะได้รับการตอบรับจากตลาดจีนดีมากแน่นอน จึงอยากให้มีการพัฒนาระบบนี้ร่วมกัน
ในปี 2558 พบว่าเศรษฐกิจการค้าในโลกลดลง และในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบปรากฏการณ์เงินทุนไหลออก ค่าเงินอ่อนค่าลง ทำให้จีนถูกจับตามองว่าจะเป็นอย่างไร ตนจึงยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนยังมีลักษณะเติบโตจากเชิงสูง หรืออย่างรวดเร็ว จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี สูงกว่า 10% ขึ้นไปเป็น 6.9% ในปี 2558 ที่ผ่านมา มาสู่การเติบโตปานกลางอย่างมีคุณภาพ เปรียบเทียบการเติบโตจากเมื่อ 5 ปีก่อนในอัตรา 1:1.5% และ 10 ปีก่อนในอัตรา 1:2.4%
นายนิ่ง ฟู่ขุ่น ย้ำว่า จีนสามารถรักษาสถานภาพการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในภาวะที่โลกกำลังซบเซา ซึ่งสามารถดูได้จากข้อมูล และหลักฐานคือ ค่าเงินหยวน ที่ไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่อง แม้จะมีอัตราเงินเฟ้อเมื่อปีก่อน เพราะจีนไม่มีนโยบายในการก่อสงครามทางการเงิน ไม่ทำให้ค่าเงินอ่อน เพื่อให้ได้เปรียบด้านการส่งออกสินค้า และจีนมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงไม่นำเงินหยวนไปผูกกับปัจจัยภายนอกมากเกินไป
ทั้งนี้ จีนมีแผนพัฒนา 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายในปี 2020 ให้จีดีพีอยู่ในระดับ 6.5-7% ไม่ให้ต่ำกว่านี้ มุ่งส่งเสริมจีดีพีต่อหัวให้สูงเท่ากับสหรัฐอเมริกา อยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การพัฒนาเศรษฐกิจก็จะมีการเปิดกว้าง และมุ่งเป็นหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับกลุ่มอาเซียนก็เป็นอีกนโยบายการพัฒนาตามเส้นทางสายไหมทางทะเลเพื่อให้ศตวรรษที่ 21 นี้มีการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียน ให้สูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ