มหาวิทยาลัยเอกชนของไทย ต่างพากันปรับหลักสูตรการศึกษารองรับนักเรียนจีน แห่เข้ามาเรียนมากขึ้น หลังพลาดสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในจีน และกลุ่มเด็กใฝ่รู้แต่มีอุปสรรคในการเดินทางเข้าไปเรียนในเมืองหลวง ม.กรุงเทพ เปิดหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาจีน ส่วนคณะยอดฮิตที่หลายสถาบันเปิดรับ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม การบริหารธุรกิจ การขนส่งระหว่างประเทศ ด้านนักวิชาการจีนจากนิด้าชี้ 6 ปัจจัยเด็กจีนเลือกมาเรียนในไทย ระบุนักศึกษาจีนที่จบการศึกษา 80% เลือกทำงานในไทย
แม้ว่าความนิยมของคนจีนที่เข้ามาเรียนต่อปริญญาตรีในประเทศไทย จะมีมานานเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่ทุกคนวิ่งเข้าไปหา และแม้ว่าในส่วนของรัฐบาลจีนยังไม่ได้เปิดกว้างในการสนับสนุนเรื่องนี้มากนัก
ดังนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเปิดรับนักศึกษาจีนในลักษณะของการเซ็น MOU ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีน ซึ่งเป็นลักษณะโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรืออีกลักษณะคือ จีนส่งนักศึกษามาเรียน และไทยส่งอาจารย์ไปเรียนภาษาจีน ซึ่งมีทั้งแบบหลักสูตรระยะสั้นและยาว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่การเลือกสถานที่เรียน ซึ่งแหล่งข่าวในวงการศึกษากล่าวกับ Special Scoop ว่า
“อันดับมหาวิทยาลัยยอดนิยมของเด็กจีนในอดีต จะนิยมมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ แต่มีประเด็นที่ไม่ตอบโจทย์ เพราะความซับซ้อนของขั้นตอน จึงปรับไปเลือกการเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ที่นิยมมากคือที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งส่วนหนึ่งที่นิยมเพราะภูมิอากาศไม่แตกต่าง และการเดินทางใกล้กว่า รวมทั้งมีความได้เปรียบเรื่องสาขาวิชาขาดแคลน เช่น สายวิทยาศาสตร์ ในขณะที่สายสังคมก็จะหันมาทางมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ
นักศึกษาจีนที่สนใจเรียนมหาวิทยาลัยในไทย ส่วนหนึ่งมาจากประชากรเด็กที่มีจำนวนมาก ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านคนต่อปี แต่มหาวิทยาลัยของประเทศจีน สามารถรองรับได้เต็มที่ประมาณ 2 ถึง 2.5 ล้านคน ทำให้มีเด็กส่วนหนึ่งพลาดเพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ และอยากเรียนต่อระดับอุดมศึกษา แต่ไม่สามารถจะเรียนในประเทศ เด็กกลุ่มนี้จึงหันมาเรียนต่อที่ไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากและไม่แตกต่างจากประเทศจีน โดยส่วนใหญ่ที่มาเรียนในไทย จะมาจากมณฑลต่างๆ ของจีนที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ และมาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งอยากมีการศึกษา อนาคตที่ดี ในขณะที่เด็กในเมืองเช่นปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้มีทางเลือกมากกว่า”
ม.เอกชนเปิดหลักสูตรรับนักศึกษาจีน
จากการสำรวจยังพบว่า มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งเริ่มปรับตัวรับโอกาสนี้กันมากขึ้น โดยมีการปรับหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเลือกให้นักศึกษาจีนสนใจมาเรียนต่อกันมากขึ้น ซึ่งโครงการรับนักศึกษาจีนของมหาวิทยาลัยเอกชน มีคณะและหลักสูตรวิชายอดฮิตที่นักศึกษาจีนให้ความสำคัญ ได้แก่ วิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม การบริหารธุรกิจ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง ชูสาขาวิชาที่มีความโดดเด่น เพื่อสร้างความแตกต่างด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชูจุดแข็งหลักสูตรการเรียนด้านนิเทศศาสตร์ หลักสูตรภาษาจีน เพราะแม้ว่าจะมีการเปิดสอนหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีนภายใต้ “วิทยาลัยนานาชาติจีน” ที่มีการเปิดหลักสูตร “เพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม” เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นก็ตาม แต่ก็พยายามสร้างหลักสูตรที่แตกต่าง จากสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น “ภาษาจีนเพื่อการแสดงและการเป็นพิธีกร” และล่าสุดหลักสูตรที่กำลังจะเปิดสอนในภาคการศึกษานี้ คือ “การผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์” ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด
ขณะที่โครงการรับนักศึกษาจีนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งถือว่ามีการเปิดหลักสูตรเรียนด้วยภาษาจีนอย่างเต็มรูปแบบนั้น มีการเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ สาขาวิชาด้านการบริหารธุรกิจ ซึ่งเปิดรับคนที่ใช้ภาษาไทยได้ เพราะมีการเรียนการสอน และการสอบวัดผลเป็นภาษาไทยทั้งหมด และอีกหลักสูตรคือ นานาชาติจีน ซึ่งประกอบด้วย 2 สาขา คือสาขาบริหารธุรกิจ และสาขาจัดการการท่องเที่ยว โดยจุดเด่นคือ มีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีน และคนที่ไม่มีพื้นฐาน จะมีหลักสูตรเสริมการสอนภาษาไทยให้ตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาบางส่วนกลับไปทำงานที่ประเทศจีน แต่คนที่เรียนบริหารธุรกิจจะนิยมทำธุรกิจต่อในไทย เช่น ทำธุรกิจส่งออกสินค้ากลับไปประเทศจีน
ด้านมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เน้นภาษาไทย และเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยและการอยู่ในสังคมไทย ซึ่งต่างไปจากวิถีจีน โดยหลักสูตรที่เปิดสอนหลักๆ คือ ภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ การโรงแรมและการท่องเที่ยว และบริหารธุรกิจนานาชาติ ที่เน้นเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ ระยะเวลา 2 ปีสำหรับคนที่มีพื้นฐานภาษาไทย เรียนชั้นปี 3 เพื่อเน้นการเรียนแบบปฏิบัติจริง หลักสูตรระยะเวลา 4 ปีสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาไทยมาก่อนเลย
แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า “แนวโน้มส่วนใหญ่นักศึกษาจีนอยากเรียนภาษาไทย ซึ่งการเรียนการสอนจะรวมไปถึงประเพณี และวัฒนธรรมไทย ในบางรายวิชาจะสอนร่วมกับนักศึกษาไทย เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกันด้านภาษา และมีความกล้ามากขึ้น ส่วนสาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นสาขายอดนิยมที่นักศึกษาจีนมาเรียนต่อ เนื่องจากจุดแข็งมีห้องปฏิบัติการที่สามารถให้ลงมือปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่มากกว่าเรียนที่ประเทศจีน หลังจบการศึกษา ส่วนใหญ่กลับไปทำงานการโรงแรม หรือเป็นมัคคุเทศก์พาคนจีนมาเที่ยวเมืองไทย เพราะในหลักสูตรมีวิชาภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติและมีการเรียนการสอนเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย เช่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุโขทัย”
ด้าน “อาจารย์การุณย์ หลี่” อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นชาวจีนที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยกว่า 16 ปี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มเปิดกว้าง มีการปรับหลักสูตรรองรับนักเรียนจีนกันมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ระบบการศึกษาของนักศึกษาจีนในอดีตที่มาเรียนในไทย ต้องมีการปูพื้นฐานภาษาไทยมาก่อน และมักจะใช้หลักสูตร 2+2 คือศึกษาที่ประทศจีน 2 ปี และมาเรียนต่อที่ไทย 2 ปี
แต่ในปัจจุบันขยายและเปิดกว้างมากขึ้น เพราะหลายมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการสอนเป็นภาษาจีน เพื่อช่วยคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาไทย และไม่ชำนาญภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งมีนักศึกษาค่อนข้างมากเป็นหลักพัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสอนด้วย “ภาษาจีน” เป็นหลัก ซึ่งบางแห่งแม้จะมีอัตราค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าหลักสูตรภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังไม่แตกต่าง หรือในบางแห่ง ค่าเล่าเรียนถูกกว่าการเลือกไปเรียนที่เมืองใหญ่ อย่างเซี่ยงไฮ้ หรือปักกิ่ง ของประเทศจีน
6 ปัจจัยส่งผลนักเรียนจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัว
หลายปีที่ผ่านมานักศึกษาจีนนิยมมาเรียนในมหาวิทยาลัยในไทยมากขึ้น ตัวเลขขึ้นมาเป็นมากกว่า 20,000 คน เพิ่มจาก 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีประมาณ 10,000 คน ซึ่งสาเหตุที่นิยมมาเรียนที่ไทยนั้น มาจากปัจจัยต่างๆ คือ 1. ค่าใช้จ่ายที่เท่ากันหรือถูกกว่าการศึกษาในประเทศ 2. ระยะทางจากจีนมาไทยค่อนข้างใกล้ โดยเฉพาะจากทางจีนตอนใต้ เช่น กว่างซี หรือหยุนหนาน ที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 1.5-2 ชั่วโมง เทียบกับระยะทางที่เดินทางไปปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ซึ่งไกลกว่า 3. คนที่อยู่ทางใต้ของจีน มาเรียนที่เมืองไทยจะไม่รู้สึกแปลกแยกเพราะคุ้นชินกับการใช้ชีวิต และอาหารการกิน เมื่อเทียบกับการปรับตัวถ้าเดินทางไปประเทศอื่น
4. หลักสูตรที่ไทยเปิดสอนมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และทันต่อเหตุการณ์ ทั้งเรื่องการจัดการท่องเที่ยว เรื่องอินเดีย และหลักสูตรภาษาไทยซึ่งเป็นที่นิยมมากของนักศึกษาจีน 5. ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดี มีการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น มีบริษัทจีนมาลงทุนที่ไทยกว่า 3,000 บริษัท ซึ่งมีความต้องการบุคลากรที่สามารถใช้ทั้งภาษาไทยและจีน และปัจจัยที่ 6 คือคนที่มาจากทางใต้ของจีน หวังจะได้ทำงานต่อที่ไทย เพราะค่าตอบแทนดี คือประมาณ 25,000-30,000 บาท/เดือน มากกว่าอัตราที่ได้รับที่หยุนหนานหรือกว่างซี ซึ่งได้สูงสุดเพียงประมาณ 15,000 บาท
อาชีพยอดนิยมหลังจบการศึกษา
ส่วนอาชีพที่นักศึกษาจีนที่สำเร็จการศึกษาแล้วทำงานต่อในเมืองไทยเลย คือ การเป็นล่าม แปลภาษาไทย-จีน หรือผู้ช่วยผู้จัดการในหลายๆ ธุรกิจ เพราะบริษัทจีนที่มาลงทุนในไทยมีความหลากหลาย ทั้งการบิน การธนาคาร การท่องเที่ยว และในอุตสาหกรรมสายการผลิต เช่น การผลิตรถจักรยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น การแปรรูปยางพาราซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ธุรกิจที่จีนมาลงทุนในไทยนั้นเฟื่องฟูมาประมาณ 5 ปี และนักศึกษาจีนถึงร้อยละ 80% ต้องการทำงานต่อที่ประเทศไทย สอดรับกับบริษัทจีนที่ต้องการบุคลากรจีนเป็นจำนวนมาก และด้วยสถานะของตัวบริษัทที่เปิดในไทย ทำให้สามารถขอใบอนุญาตการทำงาน (Work permit) ได้ง่ายกว่าการเป็นต่างชาติมาทำงานที่ไทยเป็นรายบุคคล
อาจารย์หลี่ กล่าวอีกว่า การเปิดเออีซีไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นเป็นแรงจูงใจหลักให้นักศึกษาจีนนิยมเข้ามาศึกษาที่เมืองไทย ซึ่งมีทั้งในระดับปริญญาตรี ส่วนระดับปริญญาโทและเอกยังมีไม่มาก ส่วนช่องทางที่รับนักศึกษาจีนของมหาวิทยาลัยไทยนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเดินทางไปประชาสัมพันธ์ที่จีน หรือมีการแต่งตั้งบริษัทตัวแทนในประเทศจีนเพื่อรับนักศึกษา รวมทั้งการบอกเล่า ชักชวนกันปากต่อปาก โดยมหาวิทยาลัยในไทยมีการเปิดกว้างในทุกที่ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน