เชียงราย - ผู้บริหารบริษัทเดินเรือใหญ่จี้รัฐเร่งพัฒนา “ท่าเรือแหลมฉบัง” เป็นฮับการขนส่งทางน้ำโลกแข่งสิงคโปร์ พร้อมต่อยอดภูมิศาสตร์ที่ตั้งไทยที่เป็น “ฮับทางบก” โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
วันนี้้ (26 พ.ย.) รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ครั้งที่ 15 ที่ มฟล.ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยด้านการจัดการโซ่คุณค่าและลอจิสติกส์ หรือ Thai VCML จัดขึ้นระหว่าง 25-29 พ.ย.นี้ ที่ห้องประชุม “อาคารเรียนรวมพลตำรวจเอก เภา สารสิน”
นายสุเมธ ตันธุวนิตย์ ประธานกรรมการบริษัทโงวฮก จำกัด เอกชนผู้ประกอบกิจการขนส่งทางเรือที่สำคัญของประเทศไทย หนึ่งในวิทยากรได้บรรยายพิเศษเรื่องความท้าทายของการเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ทางทะเลของไทยว่า ไทยมีภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์มาก แต่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และทางราชการยังมองไม่เห็นจุดนี้มากนัก
สำหรับตนมองว่ากลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี อย่างเต็มตัวนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อาเซียนทางบก มีประเทศที่มีศักยภาพด้านการคมนาคมทางบก ที่มีประชากรรวมกันประมาณ 300 ล้านคน และอาเซียนทางน้ำ ที่มีหลายประเทศมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นทะเล รวมกันอีกประมาณ 300 ล้านคน รวมทั้งอาเซียนประมาณ 600 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยนั้นมีภูมิศาสตร์ที่ดีในการเชื่อมโยงทางบกกับประเทศจีน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อของประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อราว 60 ปีก่อนนายลี กวน ยู อดีตผู้นำของประเทศสิงคโปร์ ก็เคยประกาศว่าจะพัฒนาสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางหรือฮับทางน้ำ ส่วนประเทศไทยให้เป็นฮับทางอากาศ
นายสุเมธกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสิงคโปร์จึงอาศัยภูมิศาสตร์พัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าฮับทางอากาศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของยานพาหนะ โดยศักยภาพของเครื่องบินมีการพัฒนาให้บินสูง และบินนานได้เรื่อยๆ การจะเป็นฮับทางอากาศจึงขึ้นอยู่กับการสร้างสนามบินรองรับได้ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกและใช้ต้นทุนต่ำ ปรากฏว่าปัจจุบันเมืองดูไบในตะวันออกกลางเป็นฮับทางการบินระหว่างประเทศไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเราก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นฮับทางบกของภูมิภาคอยู่ เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ทำให้มีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมกับประเทศจีนที่มีประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ ปัจจุบันจีนยังพัฒนาเส้นทางรถไฟจะเชื่อมผ่าน สปป.ลาว เข้ามาด้วย
“จากศักยภาพทั้งหมดดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นฮับทั้งทางบกและทางน้ำของภูมิภาคนี้ได้ เรามีท่าเรือแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาให้เป็นฮับของไทยกับอาเซียนและของอาเซียนกับทั่วโลกได้ด้วย ขณะที่สิงคโปร์ไม่มีศักยภาพทางบกเหมือนไทย”
นายสุเมธกล่าวอีกว่า สิงคโปร์มีสินค้าผ่านปีละประมาณ 36 ล้านตู้ ซึ่งกว่า 90% เป็นสินค้าไทย มีแค่ 10% ที่เป็นของสิงคโปร์ ถ้าเอามาขนส่งผ่านประเทศไทยก็จะทำให้เราเป็นฮับทั้งทางบก และทางน้ำไปพร้อมๆ กันได้เลย ซึ่งลักษณะหนึ่งของความเป็นฮับคือเรื่องของเกตเวย์ แหลมฉบังของเรามีลักษณะเป็นเกตเวย์ที่เชื่อมทะเลกับกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม กับประเทศจีน ได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขคือ ที่แหลมฉบัง ยังมีตัวท่าเรือไม่เพียงพอ และกว่า 90% อยู่ในมือผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาลงทุน และบริการสำหรับเอากำไร เขาไม่สนใจว่าประเทศไทยจะเป็นฮับหรือเกตเวย์หรือไม่แต่เขาหวังแต่กำไรอย่างเดียว ด้านพิธีการศุลกากรของไทยก็มีขั้นตอนซับซ้อนโดยตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์แต่ที่สิงคโปร์จะนับแค่จำนวนเท่านั้น นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการตลาด และต้องการให้มีเรือที่เข้าไปจุดประกายท่าเรือแห่งนี้
ประธานกรรมการบริษัทโงวฮก จำกัด กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียกำลังแข่งขันกันพัฒนาท่าเรือ รวมทั้งประเทศเวียดนามเองก็กำลังพัฒนา เพื่อให้เป็นฮับทางการเดินเรือของภูมิภาคนี้ด้วย ดังนั้นไทยเราจึงช้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสไป แต่เราก็โชคดีที่ประเทศจีนเห็นถึงศักยภาพของไทย และเชื่อมเส้นทางรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
“หากเราสามารถพัฒนาต่อยอดสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างงานให้คนไทย และเกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อชาติในภาพรวมได้เป็นอย่างดี”
ด้าน รศ.ดร.วันชัยกล่าวว่า บริษัทโงวฮก จำกัด เป็นเจ้าแรกๆ ที่พัฒนาธุรกิจลอจิสติกส์ของไทย โดยมีเรือเดินสินค้ากว่า 40 ลำ และมีเรือลำใหญ่ที่เป็นแนวหน้าของภูมิภาคด้วย ดังนั้น การได้องค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ครั้งนี้จึงมีความจำเป็น
สำหรับ มฟล.ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและลอจิสติกส์ หรือ OBELS และเปิดทำการเรียนการสอนด้านลอจิสติกส์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่มีอยู่ตลอดเวลา มหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นหน่วยงานศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล ฯลฯ ให้สังคมและประเทศชาติ