xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตก-น้ำเน่าทะลักลงน้ำปิง ออกซิเจนลด-ปลากระชังน็อกน้ำตายเกลื่อน(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ฝนตก-น้ำเน่าเสียทะลักลงน้ำปิง ออกซิเจนในน้ำลดวูบ ทำปลากระชังน็อกน้ำตายเกลื่อนต่อเนื่องตั้งแต่คืนที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเร่งจับขายกิโลฯ ละ 60-70 บาทกันตั้งแต่เช้า ก่อนปลาตายเกลี้ยงกระชัง



วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 บ้านตำหนัก ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ต้องเร่งเก็บปลาที่กำลังน็อกน้ำตายออกจากกระชังกันตั้งแต่เช้า เพื่อนำมาขายให้กับชาวบ้าน ในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท

หลังจากปลากระชังน็อกน้ำตายตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เนื่องจากฝนตกในพื้นที่และน้ำเน่าจากคลองแม่ข่า ไหลลงในน้ำแม่ปิง และล่าสุดมวลน้ำเน่าเสียดังกล่าวได้เคลื่อนผ่านมาในพื้นที่บ้านตำหนัก และสะพานวังสิงห์คำ บริเวณเขตอภัยทานน้ำปิงหน้าวัดวังสิงห์คำแล้ว จนทำให้ปลาลอยเหนือน้ำหาออกซิเจนเพื่อหายใจอย่างน่าเวทนา ขณะที่ทางวัดก็ได้เปิดน้ำพุจากหัวพญานาคลงในน้ำปิงเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำอีกทางหนึ่ง

นายปราโทย์ แก้วยงกฏ ประมงอำเภอสารภี กล่าวว่า ตนเองได้มาวัดคุณภาพน้ำทุกอาทิตย์ และวันนี้ได้เดินทางมาดูตั้งแต่ตี 5 แล้ว จากการวัดปริมาณในเช้าวันนี้ค่าออกชิเจนในน้ำเหลือแค่ 0.5 มิลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น ต่ำกว่ามาตรฐานที่สัตว์น้ำจะอยู่ได้ คือ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงแนะนำให้เกษตรกรรีบจับปลามาขายก่อนที่จะตายหมดกระชัง

นายดวงคำ หินมี อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เปิดเผยว่า ตนเองเลี้ยงปลากระชังจำนวน 12 กระชัง โดยฝนตกและน้ำเน่าเสียทำให้ปลาน็อกน้ำตายตั้งแต่เมื่อคืน โดยตอนนี้ต้องทยอยนำปลาออกขาย เพราะมีปลาตายไปกว่า 2 พันตัวแล้ว

นายอินถา บัวเงา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านตำหนัก ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างหนักเมื่อคืนก่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังก็พยายามเฝ้าระวังกันตลอด แต่พอน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงแม่น้ำปิงไหลลงมาทำให้ปลาขาดอากาศหายใจน็อกน้ำตายตั้งแต่เมื่อคืน ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ปลาน็อกน้ำ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ที่จริงทางจังหวัดฯ ก็จริงแล้วว่าไม่ให้เลี้ยงปลา แต่เนื่องจากน้ำยังมีอยู่ จึงตัดสินใจเลี้ยงปลากระชังกันต่อ แต่ที่กลัวจริงๆ คือ น้ำเน่าเสียที่ไหลลงมาจนทำให้ปริมาณออกชิเจนในน้ำไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ปลาตาย ซึ่งระยะหลังจะเกิดขึ้นบ่อยมากถึงปีละ 3-4 ครั้งเลยทีเดียว”




กำลังโหลดความคิดเห็น