ชัยนาท - ปลากระชังของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้ในแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ที่ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เกิดอาการน็อกน้ำจากนาข้าวที่ปล่อยมาจากบึงกระจับใหญ่ ตายยกกระชัง 121 กระชัง เสียหายนับ 10 ล้านบาท
วันนี้ (7 ก.ย.) สำนักงานประมงจังหวัดชัยนาท ได้รับแจ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังใน ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท ว่า ปลาทับทิมในกระชังที่เลี้ยงไว้ในแม่น้ำท่าจีน บริเวณหมู่ 5 ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา เกิดอาการน็อกน้ำตายยกกระชัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ชลประทานปล่อยน้ำจากบึงกระจับใหญ่ ลงในแม่น้ำท่าจีน ทำให้ปลาธรรมชาติในแม่น้ำท่าจีน และปลาในกระชังของเกษตรกร 23 ราย ก็พากันทยอยตายยกกระชัง จำนวน 121 กระชัง
นางประภัตรสร เรืองภู่ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 240 หมู่ 5 ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท ผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับความเสียหาย 10 กระชัง กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) ตอนเวลา 11.30 น. ชลประทานได้ปล่อยน้ำจากบึงกระจับใหญ่ ซึ่งเป็นบึงธรรมชาติที่อยู่ห่างจากบริเวณที่พวกตนเลี้ยงปลาประมาณ 2 กิโลเมตร ลงในแม่น้ำท่าจีน เมื่อน้ำที่ปล่อยไหลมาถึงบริเวณที่เลี้ยงปลากระชัง เพียงแค่ 1 ชั่วโมง ทั้งปลาธรรมชาติในแม่น้ำท่าจีน และปลาทับทิมในกระชังของพวกตนก็พากันทยอยตายกันหมดยกกระชัง มีผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 23 ราย 121 กระชัง ความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท
ด้าน นายถาวร จิระโสภณรักษ์ ประมงจังหวัดชัยนาท หลังทราบเรื่องได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่า มีปลาทับทิมลอยตายอยู่ทุกกระชัง ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคุ้งไปทั่วบริเวณ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบปริมาณออกซิเจนในน้ำ พบว่า ค่าออกซิเจนในน้ำ หรือค่า DO เหลือเพียง 1.1 มิลลิกรัม/ลิตร (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 5-8 มิลลิกรัม/ลิตร)
นายถาวร จิระโสภณรักษ์ ประมงจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายคาดว่าเกิดจากน้ำที่ปล่อยมาจากบึงกระจับใหญ่ มีสารเคมีจากนาข้าวเจือปน เนื่องจากบึงดังกล่าวเป็นบึงธรรมชาติที่รองรับน้ำที่ปล่อยจากนาข้าวของเกษตรกร ประกอบกับช่วงนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณลดลง จึงมีน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้ามาแม่น้ำท่าจีนน้อยลง ทำให้ค่าออกซิเจนในแม่น้ำท่าจีนต่ำลง และเมื่อมีน้ำจากบึงกระจับใหญ่ที่มีสารเคมีเจือปน จึงเป็นสาเหตุให้ปลาตาย
ส่วนความช่วยเหลือคงต้องหารือในที่ประชุมร่วมกับ ปภ.จังหวัดชัยนาท ว่า เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ แต่ในเบื้องต้น ได้ประกาศเตือนพื้นที่เลี้ยงปลากระชัง ให้เลี้ยงถอยห่างจากประตูระบายน้ำบึงกระจับใหญ่ไปอีกไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อป้องกันปลาน็อกน้ำตายอีก
ขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการหรือไม่ ผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับความเสียหายจึงต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการขายปลาตายที่ยังสดอยู่ให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไปทำปลาร้า ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ส่วนปลาที่เน่าต้องนำไปฝังกลบไม่สามารถนำไปทำอะไรได้