ระยอง - คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ และรับฟังความเห็นของประชาชนครั้งแรกที่จังหวัดระยอง จากนั้นจะตระเวนไปทุกภาคทั่วประเทศอีก 8 เวที “เธียรชัย ณ นคร” ยืนยันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับต้านโกง พร้อมจะนำข้อเสนอของชาวบ้านไปเสนอต่อคณะกรรมการร่าง รธน.เพื่อนำไปปรับปรุง และบรรจุลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ชาวบ้านค้านการยกเลิกกฎหมายผังเมืองเพราะหวั่นโรงงานก่อพิษจะเข้าไปตั้งในพื้นที่เกษตรส่งผลกระทบต่อประชาชน
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านจำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน และภาคประชาสังคม ภาคตะวันออก ได้จัด “เวทีสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมี นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทำความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมีตัวแทนประชาชนในภาคตะวันออกเข้าร่วมประมาณ 400 คน หลังจากนั้น จึงมีการแบ่งกลุ่มเพื่อนำข้อคิดเห็นของแต่ละกลุ่มตามประเด็น เช่น ประเด็นเกษตร ผังเมือง ประมงชายฝั่ง ดิน น้ำ ป่า การกระจายรายได้ ฯลฯ นำเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
นายเธียรชัย กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเปิดเวทีสร้างความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งข้อคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ หรือข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่ประชาชนนำเสนอในวันนี้ ตนจะรวบรวมนำไปเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงร่าง รธน.ตามข้อเสนอแนะของประชาชนต่อไป และหลังจากนี้ คณะกรรมการร่าง รธน.ก็จะตระเวนไปจัดเวทีทุกภาคทั่วประเทศอีก 8 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะจัดที่ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี ในวันที่ 5 มีนาคมนี้
“สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และมีกฎหมายรองรับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับต้านโกง ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง และในเรื่องสิทธิชุมชน ประชาชน ได้ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการกำหนดหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ” นายเธียรชัย กล่าว และกล่าวด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้
นายเธียรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอของประชาชนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมีการนำเสนอในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ให้รัฐสนับสนุนเกษตรกรรมรายย่อยด้านการบริหารโครงสร้างพื้นฐาน การกำหนดมาตรการปกป้อง การพยุงราคา แทรกแซง สนับสนุน เลือกการทำเกษตรที่เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจสังคม ระบบนิเวศ และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ด้านประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันมีปัญหาประมงพื้นบ้านจาก พ.ร.บ.ปี 2558 เช่น ให้ทำประโยชน์ในเขต 5.4 กิโลเมตร และในเขต 3 ไมล์ทะเล หากทำผิดกฎหมายจะเสียค่าปรับ ห้ามโอนถ่ายซื้อขายมรดกทางประมง ซึ่งเป็นการลิดรอนด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประชุมจึงเสนอให้ยกเลิกมาตรา 34 พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2558 และมีข้อเสนอว่า การออกกฎหมายควรคำนึงถึงภูมิปัญญา และการดำรงวิถีชีวิตของชาวประมง ไม่ใช้ข้อมูลทางวิชาการเพียงด้านเดียว
สำหรับประเด็นการกระจายอำนาจ มีข้อเสนอว่า บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 238 ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นคัดค้านคำสั่งของ คสช.ที่ 4/ /2559 เรื่องการยกเว้นการใช้ข้อบังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง และข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่สอดคล้อง และเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะกิจการด้านคลังน้ำมัน และพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งฉบับนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้ง และบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรม และรวดเร็ว
ด้านตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในภาคตะวันออก กล่าวว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบหลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากในภาคตะวันออกซึ่งมีแม่น้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น บางปะกง แต่โรงงานต่างๆ ได้ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ นอกจากนี้ โรงงานก็ยังแย่งชิงแหล่งน้ำในการเกษตร ส่วนบางพื้นที่ก็มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเข้าไปตั้งรุกเข้าไปในพื้นที่การเกษตร อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ รวมทั้งมีผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องสูดดมเอาฝุ่นควันจากโรงงานไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายด้วย
“หากมีการยกเลิกผังเมืองก็จะทำให้มีโรงงานต่างๆ เข้าไปตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือแหล่งอาหารของชาวบ้าน เช่น โรงไฟฟ้า รวมทั้งโรงงานคัดแยกและฝังขยะ ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองฉบับเดิมไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานเหล่านี้ในเขตเกษตรกรรม โดยในภาคตะวันออกจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสระแก้ว และตราด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลกลับไปใช้กฎหมายผังเมืองฉบับเดิม ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรจะกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดผังเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้เฉพาะกลุ่มที่เห็นด้วยเข้าไปประชุม และลงความเห็นชอบ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของกำนัน และผู้ใหญ่บ้านที่เห็นด้วยต่อทางราชการ” ตัวแทนชาวบ้านภาคตะวันออก กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเสนอว่าจะให้ตัวแทนภาคประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทำหนังสือคัดค้านการยกเลิก พ.ร.บ.ผังเมืองดังกล่าวผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดไปถึงรัฐบาล คสช.ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ โดยเฉพาะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดภาคตะวันออกจะไปยื่นหนังสือภายในวันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด