อ่างทอง - ธ.ก.ส.เร่งทำการประชาสัมพันธ์การพักชำระหนี้เกษตรกรให้แก่ชาวอ่างทอง พร้อมการดูแลช่วยเหลือเงินกู้ในการนำไปลงทุนประกอบอาชีพ หลังประสบปัญหาในการทำนาช่วงวิกฤตภัยแล้ง
วันนี้ (9 ก.พ.) นายส่งเสริม ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ นายชัยยุทธ รื่นจิตร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคกลาง นายบุญเลิศ เผ่าสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แนวทางการดูแลช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง 26 จังหวัด บริเวณศูนย์การเรียนรู้กลางทุ่งนา หมู่ที่ 7 ตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เพื่อทำความเข้าใจใน 3 มาตรการหลัก คือ 1.พักชำระหนี้เกษตรกร โดยการยึดเวลาออกไป 2.หากชำระหนี้ตามกำหนดพร้อมลดดอกเบี้ย และ 3.ปล่อยกู้ SME หนึ่งตำบลหนึ่ง SME
นายส่งเสริม เปิดเผยว่า ทาง ธ.ก.ส.รับนโยบายจากรัฐบาลเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งถึง 2 ครั้ง ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ตามปกติเนื่องจากต้นทุนของน้ำในเขื่อนมีน้อย ทำให้เกิดปัญหาเดือดร้อนในส่วนของหนี้สิน และจะได้ไม่ต้องไปหากู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าปกติ ซึ่งทาง ธ.ก.ส.มีโครงการจะขยายการชำระหนี้ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือ 24 เดือน ถ้าเกษตรกรสามารถชำระได้ก็จะมีส่วนลดให้อีก 3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับหนี้สินเดิม
ขณะเดียวกัน ถ้าเกษตรกรต้องการที่จะประกอบอาชีพเพิ่มเติมในช่วงที่มีน้ำน้อย เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ที่พอทำได้ในช่วงนี้ ทางธ.ก.ส.ได้จัดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่ง SME เกษตร ซึ่งเป็นโครงการให้โอกาสเกษตรกรที่ปรับปรุงการเกษตรให้ดีขึ้น การแปรรูปผลผลิต การจ้างแรงงานมาใช้ทำการเกษตรกรรม โดยให้วงเงินกู้สูงถึง 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 4 ซึ่งถือว่าถูกมาก และผ่อนปรนเงื่อนไข้ด้านหลักประกันสามารถกู้ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของหลักประกัน ซึ่งได้เริ่มประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบ
อีกโครงการจะช่วยเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งใน 26 จังหวัด ปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรในด้านอื่น โดยทำในรูปของชุมชนมาร่วมลงทุนทำการเกษตร เป็นโครงการระยะเวลา 1 ปีเศษ ให้พอผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้เพื่อให้เกิดรายได้ ในเรื่องของการที่จะนำเอาที่ดินของชุมชนมาลงทุนร่วมกัน ทางชุมชนจะจ่ายค่าเช่าให้เกษตรกรแต่ละรายที่ร่วมลงทุน ซึ่งเกษตรกรแต่ละคนก็จะได้รายได้จากการจ้างแรงงานอีกด้วย ถ้าสิ่งที่ทำประสบความสำเร็จมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เกษตรกรในชุมชนก็จะมีรายได้จากการรวมกลุ่มถึง 3 ทาง
ในส่วนของโครงการสุดท้าย เป็นเรื่องของการดำรงชีพความเป็นอยู่ของผู้ที่ประสบภาวะภัยแล้ง ขาดเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทาง ธ.ก.ส. ก็จะมีเงินกู้ในช่วงที่ประสบภัยแล้ง ในวงเงินไม่เกินคนละ 12,000 บาท โดย 6 เดือนแรกจะไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนหลัง 6 เดือนคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน
นายสมชาติ ยิ้มละไม้ อายุ 56 ปี อาชีพทำนา ชาวจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ชาวนาอ่างทองมีความดีใจที่ทางรัฐบาล และทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร มีความห่วงใยชาวนาที่ประสบภัยแล้งต้องหยุดการทำนา ได้ลงพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์พร้อมทำความเข้าใจให้หันมาลงทุนประกอบอาชีพอื่น เช่น การปลูกพืชน้ำน้อย และการเลี้ยงสัตว์ สู้วิกฤตภัยแล้งในการหาเลี้ยงครอบครัว ยังได้พักการชำระหนี้ และยังมีหลักการในการกู้เงินช่วยเหลือในการนำไปลงทุน และปรับปรุงกิจการสู้ภัยแล้งต่อไป