ยะลา - เกษตรกรชาวสวนยางพารา และคนกรีดใน จ.ยะลา แห่ถอนเงินที่ ธ.ก.ส.กันอย่างคึกคัก จากการร่วมโครงการของภาครัฐไร่ละ 1,500 บาท ขณะที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ยะลา เผยโอนเงินให้แล้วกว่า 7,000 ราย
วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ยะลา ได้มีเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงคนกรีดได้เดินทางสอบถาม และถอนเงินจากธนาคารเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,500 บาท ที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง หลังราคายางตกต่ำตามโครงการสร้างความเข้มแข็ง หรือรายละ 1,500 บาท ที่ดำเนินการไปแล้วที่ผ่านมากันอย่างคึกคัก
นายพินัย พูลเล็ก ผอ.สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ยะลา กล่าวว่า โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรชาวสวนยาง เจ้าของสวน ผู้กรีดยาง ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกยางใน จ.ยะลา ที่ได้ลงทะเบียนต่อ กยท. จ.ยะลา จำนวน 11,625 ครัวเรือน จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 23,653 ครัวเรือน ณ 28 มกราคม 2559
ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เจ้าของสวน 4,024 ราย เป็นเงิน 34,082,325 บาท และส่วนของผู้กรีดยางจำนวน 3,967 ราย เป็นเงิน 22,468,950 บาท ส่วนที่เหลือยังอยู่ในกระบวนการ ซึ่ง กยท.คาดว่าทุกส่วนงานจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
นายพินัย ยังกล่าวว่า ทางสำนักงาน ธ.ก.ส. จ.ยะลา ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตยางพาราในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำอยู่ในขณะนี้
โดยได้เสนอโครงการพักชำระหนี้ลูกค้า ธ.ก.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังรัฐบาล และมีมติ ครม.อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ให้ ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
พร้อมกำหนดมาตรการฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพการผลิตตามกลุ่มอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวน 12,000 ราย แบ่งหลักสูตรการอบรมเป็นรุ่นๆ ละ 100 คน เพื่อพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสินเค้าเกษตร ตลอดห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย การจัดการพื้นที่การผลิตภาคชุมชน การรวบรวม การแปรรูป เชื่อมโยง และการสร้างตลาดรองรับสินค้ายางพาราผ่านกระบวนการกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์
ซึ่งให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาช่วยเหลือกันและกันในชุมน สร้างกลุ่มเกษตรกรต้นแบบให้เป็นฐานการผลิตอย่างมีคุณภาพ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในภาคการเกษตรรองรับ AEC โดยอบรมให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการพื้นที่การผลิตให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มในแปลงปลูกยางพารา การเปลี่ยนสวนยางพาราเป็นการเกษตรแบบผสมผสานเป็นทางเลือกที่สำคัญ และยั่งยืน
เช่น การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง การปลูกพืชร่วมยาง ที่สามารถสร้างรายได้เสริม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามแนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายอันเป็นการลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากการต้องพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว ส่งเสริมการสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด ผ่านระบบการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง และพัฒนาไปสู่การแปรรูปยางพารา สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อร้างคุณภาพชีวิตที่มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกร