พิจิตร - ชาวนาในรัศมี 15 กม.แห่ขนข้าวจองคิวเข้าโรงสีชุมชนในวิทยาลัยเกษตรพิจิตร แปรรูปเป็นข้าวสารเก็บไว้กิน-บรรจุถุงขายเอง แทนขายเป็นข้าวเปลือก เผยได้เงินเพิ่มเป็นเท่าตัว แถมไม่มีต้นทุนค่าสีข้าว แค่ยกรำ-ปลายข้าวให้วิทยาลัยฯ เท่านั้น
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร และนางกนกกาญจน์ เวชศิลป์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาเกษตรอุตสาหกรรมสาขางานเทคโนโลยีข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้วิทยาลัยเกษตรพิจิตร ซึ่งพยายามส่งเสริมเกษตรกรทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี ลดต้นทุน ได้เปิดโรงสีชุมชนขนาดกลาง แปรรูปได้ชั่วโมงละ 500 กก. ขึ้นในวิทยาลัยฯ เพื่อรับสีข้าวจากชาวนาฟรี ขอแค่รำ และปลายข้าว เป็นค่าดำเนินการ ซึ่งมีชาวนาในรัศมี 15 กม. จาก อ.สามง่าม อ.เมืองพิจิตร อ.วชิรบารมี ต่างนำข้าวเปลือกมาเข้าคิวสีเป็นข้าวสารเพื่อบริโภค-บรรจุถุงขายกันเป็นจำนวนมาก
นายชยพล เกิดแพ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 2 ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ทำนา 12 ไร่ และเป็นนายกสมาคมชาวนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพิจิตร ซึ่งนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารที่โรงสีชุมชนวิทยาลัยเกษตรพิจิตร เล่าว่า ตนและสมาชิกของสมาคมชาวนาฯ ทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ผลิตจุลินทรีย์จาวปลวก ทำฮอร์โมนรวมถึงสารไล่แมลงจากพืชสมุนไพร มีต้นทุนการทำนาเพียงไร่ละ 1,023 บาท
เมื่อได้ผลผลิตก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เอาไว้เป็นพันธุ์ข้าวปลูก ขายเป็นข้าวเปลือก และแปรรูปเป็นข้าวถุงขาย รวมถึงแปรรูปเก็บไว้กินในครอบครัว วันนี้นำข้าวพันธุ์ช่อราตรีจำนวน 1,270 กก. ซึ่งถ้าขายเป็นข้าวเปลือกก็จะได้ตันละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,160 บาท มาแปรรูปได้ข้าวสาร 100% จำนวน 545 กก. เป็นข้าวท่อน 50 กก. ส่วนรำและปลายข้าวท่อนยกให้วิทยาลัยเกษตรพิจิตรเป็นค่าดำเนินการ หลังจากนี้ก็จะนำข้าวสารไปบรรจุถุงขาย คาดว่าจะขายได้เงินมากถึง 20,000 บาทเศษ ซึ่งได้มากกว่าขายเป็นข้าวเปลือกเกือบ 1 เท่าตัว
“เชื่อว่าการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี ปลูกข้าวแล้วขายเป็นข้าวสารแทนการขายข้าวเปลือกให้กับโรงสีจะเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยให้ชาวนาพิจิตรอยู่รอดได้ในระยะยาว”
ด้านนายสายชล สิทธิสิงห์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านวังกระดี่ทอง ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร ซึ่งทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ 50 ไร่ ที่แบ่งข้าวเปลือกไว้ที่บ้านแล้วประมาณ 3 ตัน แล้วนำข้าวเปลือกที่เหลือมาเข้าคิวรอแปรรูปที่โรงสีชุมชนของวิทยาลัยฯ ด้วย บอกว่า ในครอบครัวมี 5 คน ภรรยาก็ขายข้าวราดแกง ข้าวผัดพริก ผัดกะเพราอยู่ในหมู่บ้าน ก็ได้อาศัยโรงสีชุมชนวิทยาลัยเกษตรพิจิตรแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารไว้กิน ไว้ขาย ลดรายจ่ายได้มากทีเดียว
นายจิโรจน์ แคะลิ้ม อายุ 57 ปี ช่างประจำโรงสีข้าวของวิทยาลัยเกษตรพิจิตร เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสนับสนุนให้ตั้งโรงสีแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2547 ตนเป็นนักการภารโรงแต่มีความรู้ด้านช่างเครื่องจึงไปอบรมและมีความชำนาญในการควบคุมเครื่องจักรในโรงสี ที่ผ่านมามีผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะทางวิทยาลัยฯ คิดค่าบริการถูกมาก ดังนั้นหากเกษตรกรท่านใดสนใจจะนำข้าวมาสีสามารถติดต่อจองคิวได้ที่โทร. 08-1973-7095 หรือ อ.กนกกาญจน์ โทร. 08-9706-5405