พิจิตร - ยุคทองโรงสีข้าวเคลื่อนที่ชาวนาแห่ใช้บริการ เจ้าของใจป้ำไม่รับค่าแรงเป็นเงินแต่ขอเป็นรำกับปลายข้าวแทน ชาวนาเร่งสีข้าวใส่ถุงขายรับเทศกาลปีใหม่
นายศุภเดช นิแสนภูมิเทศ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมแนะนำส่งเสริมเกษตรกรในการดำรงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะให้คำแนะนำแก่ชาวนาว่าการปลูกข้าวเพื่อขายเป็นข้าวเปลือกนั้นในยุคนี้อาจจะไม่คุ้ม จึงน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้หันมาปลูกข้าวและขายเป็นข้าวสารเลยเพราะมีโรงสีข้าวเคลื่อนที่ให้บริการถึงที่กันแล้ว
นางอรัญญา จันทร์กลิ่น อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 85 หมู่ 12 บ้านวังกระเปา อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ประกอบอาชีพทำรถสีข้าวเคลื่อนที่มากว่า 10 ปีแล้ว โดยลงทุนในการทำโรงสีข้าวเคลื่อนที่ใช้เงินลงทุนเกือบ 5 แสนบาท ตระเวนออกรับจ้างแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารให้ชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วต้องการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเก็บไว้กินไว้ขายตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวนานิยมขายข้าวเป็นข้าวเปลือกแต่ปรากฏว่าช่วงนี้ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำเหลือเพียงแค่ตันละ 7,000-8,000 บาท ทำให้ชาวนาเกิดคิดเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำนาขายข้าวเปลือกหันมาเป็นชาวนาปลูกข้าวเพื่อขายข้าวสารจึงเริ่มเรียกใช้บริการกันมากขึ้น โดยได้ว่าจ้างรถสีข้าวเคลื่อนที่ไปทำการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร โดยรถสีข้าวเคลื่อนที่ของเราจะให้บริการฟรีแต่ขอรำกับปลายข้าวเป็นค่าดำเนินการ โดยข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะสีเป็นข้าวสารได้ 600 กิโลกรัม ถ้านำไปขายก็จะได้ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท หรือนำมาเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกก็จะมีรายได้ 15,000 บาทต่อตัน
โดยเฉพาะใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้กระแสนิยมซื้อข้าวสารเป็นของขวัญ รวมถึงลูกหลานชาวนาที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะเดินทางกลับบ้านในทุกครอบครัวของชาวนา จึงเร่งสีข้าวสารเพื่อจะมอบให้ลูกหลานขนกลับไปหุงกินในเมืองหลวง จึงทำให้ช่วงนี้ เป็นยุคทองของโรงสีข้าวเคลื่อนที่
นางอรัญญา เจ้าของโรงสีข้าวเคลื่อนที่กล่าวต่ออีกว่า ช่วงนี้ออกตระเวนสีข้าวตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม โดยทำงานกับสมาชิกในครอบครัว 4-5 คน ในแต่ละวันสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารได้ 5-6 ตัน ระยะทางที่รับงานไกลสุดคือ 40-50 กิโลเมตร การให้บริการก็สีข้าวให้ฟรีแต่ขอรำและปลายข้าวเป็นค่าบริหารจัดการหรือค่าแรง โดยกล่าวเน้นย้ำว่าอยากให้ชาวนาทุกคนเปลี่ยนวิธีคิดหันมาปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี แล้วสีข้าวเก็บไว้กินเองหรือเป็นชาวนาขายข้าวสารดีกว่าเป็นชาวนาที่ขายข้าวเปลือกให้เถ้าแก่โรงสี เพราะจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว