xs
xsm
sm
md
lg

เร่งพัฒนาลวดลายผ้าไหมบุรีรัมย์ มุ่งเพิ่มมูลค่าคงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จนท.กรมหม่อนไหมร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมให้กับกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนตะคร้อ ต.บ้านคู อ.นาโพธิ์  จ.บุรีรัมย์ วันนี้ ( 1 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - กรมหม่อนไหม ร่วมกับสถาบันการศึกษาออกแบบพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ไหมให้กับกลุ่มผลิตที่ จ.บุรีรัมย์ มุ่งยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ไหมให้ตรงตามความต้องการของตลาดแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งมีต้นทุนต่ำหวังสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่ม

วันนี้ (1 ก.พ.) เจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ลงพื้นที่ร่วมออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมให้กับกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโนนตะคร้อ ม.12 ต.บ้านคู อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ไหมให้ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่สำคัญเน้นการใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้จากชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการย้อมสีแทนการใช้สีเคมี ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอีกด้วย

โดยการลงพื้นที่ร่วมกันออกแบบลวดลายผ้าไหมในครั้งนี้ ได้ออกแบบลวดลายให้กลุ่มทอผ้าไหมเลือกทั้งหมด 15 แบบ ซึ่งชาวบ้านได้คัดเลือกเหลือ 2 แบบ เพื่อนำไปทดลองทอจริงและวางขายเพื่อทดลองตลาดด้วย

นายสมบัติ กองภา ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการออกแบบพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือหลายฝ่ายเพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นลายเอกลักษณ์ โดยนำคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันต้องมีการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยสามารถแข่งขันกับตลาดได้อีกด้วย จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าที่จะช่วยกันยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยคาดหวังว่าผ้าไหมที่มีการพัฒนาลวดลายแล้วจะตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น

สำหรับ จ.บุรีรัมย์จะมีผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ผ้าซิ่นตีนแดง และผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกคู่ที่ได้นำมาประยุกต์ผสมผสานเป็นผ้าซิ่นตีนแดงหางกระรอกคู่ที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องรวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้นด้วย

ด้าน นางแพรวา รุจิณรงค์ นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ปฏิบัติการ สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กล่าวว่า โครงการพัฒนาลวดลายผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 โดยกรมหม่อนไหมร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษา ปีนี้มีเป้าหมายนำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อออกแบบลวดลาย 4 จังหวัด คือ จ.สุรินทร์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สกลนคร ซึ่งจะคัดเลือกกลุ่มทอผ้าที่มีความต้องการอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นกลุ่มที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นของตัวเอง

โดยการพัฒนาลวดลายผ้าไหมจะเน้นความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นโดยการดึงคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นมาออกแบบให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เพราะปัจจุบันตลาดค่อนข้างไปเร็วมาก ดังนั้นสิ่งที่จะอยู่ได้นอกจากด้านการตลาดแล้ว ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องเอาความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เชื่อว่าหากมีการพัฒนาลวดลายสีสันแล้วจะสามารถตอบโจทย์ของกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น