xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรฯ คาด 2 ปี หน่วยงานในสังกัดใช้ยางพาราในประเทศ ได้กว่า 36,605.69 ตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางการใช้ยางพาราในประเทศในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน
เกษตรฯ คาดหน่วยงานในสังกัดใช้ยางพาราในประเทศ ได้กว่า 36,605.69 ตัน ในปี 2559-2560 เผยปี 59 ใช้ยางพาราจากงบปกติ จำนวน 434.07 ตัน และปริมาณการใช้ยางพาราจากงบกลาง จำนวน 25,146.27 ตัน ส่วนในปี 2560 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศทั้งสิ้น 11,025.35 ตัน

วันนี้ (11 ม.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางการใช้ยางพาราในประเทศในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานว่า สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกหน่วยราชการมีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือถึงการใช้ยางพาราในประเทศของส่วนราชการโดยใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2559-2560 ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดที่คาดว่าจะนำเสนอการใช้ยางพาราในประเทศ จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม และกรมวิชาการเกษตร เช่น แผ่นยางปูคอกโคนม ปูพื้นคอกปศุสัตว์ ถุงมือยาง การปรับปรุงผิวจราจรถนนลาดยาง โครงการปรับปรุงผนังบ่อดินสำหรับอนุบาลและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ รองเท้ายาง เป็นต้น

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ ในปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 25,580.34 ตันยางแห้ง แบ่งเป็นปริมาณการใช้ยางพาราจากงบปกติ จำนวน 434.07 ตันยางแห้ง และปริมาณการใช้ยางพาราจากงบกลาง จำนวน 25,146.27 ตันยางแห้ง สำหรับปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ในปี 2560 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,025.35 ตันยางแห้ง ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสำนักรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณ จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นภาพรวมก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนแล้วยังมีการวางแผนในระยะยาวตามนโยบายของนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งต้องให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความสมัครใจ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปสร้างความเข้าใจ พร้อมพูดคุยกับเกษตรกรในการเสริมสร้างอาชีพ โดยจะต้องดูควบคู่กับด้านการตลาดด้วย

ทั้งนี้ ภาครัฐจะให้ความสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีการอนุมัติงบประมาณแล้วจำนวน 15,000 ล้านบาท ในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 96,563 ราย วงเงิน 8,752 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส.จำนวน 34,267 ครัวเรือน วงเงิน 3,387 ล้านบาท และมีเงินคงเหลือ 2,867 ล้านบาทที่เตรียมพร้อมให้เกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มเติมซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานควบคู่กับการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น