บุรีรัมย์ - เกษตรกร อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ยอมตัดโค่นต้นยางพารากว่า 9 ไร่ทิ้ง ปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยน้ำว้า แตงโม และพืชอายุสั้นอีกหลายชนิดขายแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำต่อเนื่อง ทั้งหวังผลผลิตกล้วยและพืชอายุสั้นจะสามารถขายได้ราคาดีกว่าและมีเงินไปใช้หนี้
วันนี้ (13 ม.ค.) นายทองใบ และนางเสถียร จรผักแว่น สองสามีภรรยา เกษตรกรบ้านรุ่งอรุณ ม.17 ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ยอมตัดโค่นต้นยางพาราที่มีอายุ 5 ปี บนเนื้อที่กว่า 9 ไร่ทิ้ง ปรับเปลี่ยนหันไปปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นอาชีพหลัก ทั้งปลูกแตงโต พืชอายุสั้น และพืชผักสวนครัวเสริมในแปลงทดแทนยางพารา หลังประสบปัญหายางพารามีราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
เชื่อว่าจะสามารถเก็บผลผลิตกล้วยน้ำว้า แตงโม และพืชอายุสั้นขายได้ราคาดีกว่ายางพารา ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีตลาดรองรับก็ตาม ซึ่งการปลูกกล้วยน้ำว้าลงทุนค่าไถปรับหน้าดิน ซื้อต้นพันธุ์ รวมถึงทำระบบน้ำสปริงเกอร์ และน้ำหยดตกไร่ละประมาณ 6-7 พันบาท แตงโมลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 3,000 บาท โดยกล้วยน้ำว้าใช้ระยะเวลาปลูกและสามารถเก็บผลผลิตขายได้ 7-8 เดือน ส่วนแตงโมประมาณ 30-40 วันก็สามารถเก็บส่งจำหน่าย
จากปัจจุบันกล้วยน้ำว้าซื้อตามตลาดทั่วไปอยู่ที่หวีละ 15-20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่พอใจและสามารถอยู่ได้ แตกต่างจากการปลูกยางพาราต้องรอ 7-8 ปีจึงจะเปิดกรีดนำน้ำยางไปจำหน่ายได้ ซ้ำราคายังตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย จึงยอมตัดโค่นต้นยางทิ้งเพราะต้องจ่ายค่าปุ๋ยในการบำรุงรักษาอีกเป็นจำนวนมาก
นางเสถียร จรผักแว่น กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนจากสวนยางพาราหันมาปลูกกล้วยน้ำว้า และแตงโมพืชอายุสั้นในครั้งนี้ เพราะหวังว่าจะสามารถนำผลผลิตทั้งกล้วย แตงโม ไปส่งขายตามท้องตลาด จะมีราคาดีกว่า และขายได้เร็วกว่า ไม่ต้องเสี่ยงกับราคาที่ผันผวนตกต่ำ หากการปลูกกล้วยน้ำว้า 9 ไร่ได้ผล พื้นที่ที่ปลูกยางพาราที่เหลืออยู่อีก 5 ไร่ก็จะตัดโค่นทิ้งปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยน้ำว้าและพืชอายุสั้นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐได้เร่งหาตลาดรองรับให้เกษตรกรด้วย เพราะหากได้ผลเชื่อว่าจะมีเกษตรกรอีกหลายรายปรับเปลี่ยนหันมาปลูกกล้วยน้ำว้า และพืชอายุสั้นทดแทนยางพารา ขณะนี้ได้มีเกษตรกรหันมาดูงานที่สวนของตนเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณมีเกษตรกรปลูกยางอยู่เป็นจำนวนมาก และประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องราคายางตกต่ำเช่นกัน