xs
xsm
sm
md
lg

“อ่างฯ ห้วยตามาย” ศรีสะเกษเริ่มแห้งขอด บุรีรัมย์ยังมั่นใจน้ำดิบพอผลิตประปาเลี้ยงเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย  ต.ภูเงิน  อ.กันทรลักษ์  จ.ศรีสะเกษ  เริ่มแห้งขอด เหลือน้ำ ใช้การได้เพียง22.04  ล้านลบ.ม. จากขนาดความจุ   61.4  ล้านลบ.ม. วันนี้ ( 11 ม.ค.)
ศรีสะเกษ/บุรีรัมย์ - อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย แหล่งน้ำสำคัญ อำเภอกันทรลักษ์ ศรีสะเกษ เริ่มแห้งขอดต้นบัวแห้งตาย ขณะชลประทานบุรีรัมย์ยังมั่นใจน้ำดิบเหลือในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและห้วยตลาด เพียงพอผลิตประปาหล่อเลี้ยง ปชช.ในตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจสำคัญได้ตลอดช่วงหน้าแล้ง แต่หากฝนมาช้าหรือไม่ตกตามฤดูกาลเสี่ยงเกิดวิกฤต วอน ปชช.ใช้น้ำประหยัด

วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย ต.ภูเงิน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ต้นบัวที่เคยลอยอยู่ในน้ำจำนวนมากต้องแห้งตายเพราะระดับน้ำได้ลดลงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา พื้นดินใต้อ่างเก็บน้ำโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นบริเวณกว้างซึ่งปกติแล้วน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตามายจะเริ่มลดลงช่วงประมาณ มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี แต่ปีนี้ภัยแล้งได้มาเร็วทำให้ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพทำการประมง ไม่สามารถหาจับปลาได้มาก และปลาที่จับได้ส่วนมากเป็นเพียงปลาตัวเล็กๆ ทำให้ชาวประมงต้องพากันหันไปประกอบอาชีพอื่นแทนการจับปลาขายแล้วหลายราย

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของโครงการชลประทานศรีสะเกษระบุว่า อ่างเก็บน้ำห้วยตามายสามารถจุน้ำได้ 61.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำอยู่ในอ่าง 22.914 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 22.04 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของ จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำเริ่มลดลง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้เร่งรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนชาว จ.ศรีสะเกษ ได้ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่ที่ใช้ในการผลิตประปาบริการประชาชนในเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ รวมถึงเขตเศรษฐกิจสำคัญ ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความจุอ่างกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะงดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรแล้วก็ตาม เพราะนอกจากทางการประปาส่วนภูมิภาคจะสูบไปใช้ผลิตประปาแล้ว ยังมีการระเหยรั่วซึมตามธรรมชาติด้วย

นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า มั่นใจว่าปริมาณน้ำที่เหลือในอ่างจะเพียงพอใช้เป็นน้ำดิบในการผลิตประปาบริการประชาชนและเขตเศรษฐกิจได้ตลอดฤดูแล้ง แต่หากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ฝนยังมาช้าหรือไม่ตกตามฤดูกาลก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้

ดังนั้นจึงร้องขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

หากน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากไม่เพียงพอ ก็ยังมีน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดที่เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองอีกแห่ง แต่หากแหล่งน้ำดิบทั้ง 2 แห่งไม่เพียงพอผลิตประปาจะร่วมกับทางการประปาส่วนภูมิภาคสูบดึงน้ำจากลำน้ำมาศระยะทาง 16 กิโลเมตร มาเติมในอ่างอีกรอบ จากที่ก่อนหน้านี้ได้สูบมาสำรองแล้ว 5 ล้านลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.บ้านบัว อ.เมือง  จ.บุรีรัมย์ แหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่ใช้ในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองบุรีรัมย์  ล่าสุดมีน้ำ 14 ล้านลบ.ม. จากความจุอ่าง26 ล้านลบ.ม.

กำลังโหลดความคิดเห็น