xs
xsm
sm
md
lg

ตามดู “ประชุมฟาร์ม” เลี้ยงหมูปลอดสารในฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสำคัญต่อเรื่องอาหารปลอดภัย และยังต้องมีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเลี้ยงสัตว์ หันมาเอาจริงเอาจังต่อการเลี้ยงสัตว์ด้วยกระบวนการที่ปลอดภัย ปลอดสาร ภายใต้กระบวนการที่ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

วันนี้มีโอกาสได้เข้าไปดูเกษตรกรยุคใหม่ที่ทำเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่ “ประชุมฟาร์ม” ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ของสองสามีภรรยาที่สู้ชีวิตไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคอย่าง “ประชุม-อรพิน โกสินทร์” ที่เคยล้มมาแล้วจากการเลี้ยงหมูแบบอิสระเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยแรกเริ่มนั้นเขาทำฟาร์มพ่อแม่พันธุ์เพื่อเพาะลูกหมูขาย ครั้งแรกเลี้ยง 20 แม่ ต่อมา ขยายเป็น 200 แม่ ส่วนการตลาดนั้นเขาทำเอง ซึ่งช่วงแรกเขาถือว่าการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ดีมากเพราะราคาหมูค่อนข้างดี จนกระทั่งช่วงที่เกิดโรคระบาดในพื้นที่ และด้วยการที่เลี้ยงหมูในโรงเรือนเปิดจึงโดนหางเลขไปด้วย ช่วงนี้เองที่การตลาดเริ่มยากขึ้น เพราะเกษตรกรเลี้ยงหมูขุนทยอยเลิกเลี้ยงไปเพราะขาดทุนจากภาวะโรคระบาด ลูกหมูที่ประชุม ผลิตได้ก็ขายไม่ออก จึงจำเป็นต้องเลิกกิจการเลี้ยงหมูไปในที่สุด

“เมื่อต้องเจอกับปัญหาทั้งเรื่องโรคระบาด และที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องตลาด ยอมรับเลยว่าคนเลี้ยงรายย่อยก็อยู่ยาก เพราะต้องรับความเสี่ยงทั้งหมด ตอนที่เลี้ยงอิสระเราก็ซื้อหมูแม่พันธุ์ และอาหารหมูจากซีพีอยู่แล้ว เพราะมั่นใจในคุณภาพ พอมีปัญหาเรื่องโรค กับตลาดก็เลยคุยกับทีมงานของซีพีเอฟ เขาจึงเสนอแนวทางว่ามาร่วมโครงการกับบริษัท พอได้ศึกษาข้อมูลโครงการอย่างละเอียดพบว่า ระบบนี้ไม่เสี่ยงเหมือนตอนที่เลี้ยงอิสระ จากนั้นจึงตัดสินใจเข้ามาเลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟเมื่อ ปี 2551” ประชุม บอกถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย หรือโครงการฝากเลี้ยงกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

ประชุม บอกว่า ที่ฟาร์มเลี้ยงหมูขุน 1,700 ตัว ใน 3 โรงเรือน โดยการเลี้ยงหมูที่นี่จะเน้นการเลี้ยงให้หมูอยู่สบาย และคอยดูแลหมูอย่างใกล้ชิด จึงสังเกตเห็นหมูที่เริ่มป่วยได้เร็ว ทำให้สามารถแยกหมูมาดูแลเป็นพิเศษได้ และยังเปิดเผยเคล็ดลับการเลี้ยงหมูให้โตเร็วว่า

“การเลี้ยงหมูต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องการดูแลหมูในทุกๆ ช่วง เรียกง่ายๆ ว่า เลี้ยงดูเหมือนลูก หมูเล็กๆ ก็เหมือนเด็กเล็กๆ ที่ต้องประคบประหงมให้ดี แล้วเราไม่ต้องห่วงเรื่องพันธุ์หมูเพราะบริษัทพัฒนาพันธุ์มาดีแล้ว ทำให้หมูเราเติบโตได้ดี เมื่อประกอบกับการได้รับอาหารที่มีโภชนาการตามความต้องการของหมูแต่ละอายุ และเลี้ยงหมูในโรงเรือนปิดที่ปรับอากาศได้ รวมถึงการเลี้ยงที่มีการดูแลทุกขั้นตอนอย่างดี มีการควบคุมโรคเข้มงวด ทั้งหมดนี้ทำให้หมูขุนที่เลี้ยงเติบโตได้ดีโดยที่ไม่ต้องอาศัยสารเร่งเนื้อแดง หรือยาปฏิชีวนะ เพราะทุกอย่างช่วยเสริมกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ตลอดการเลี้ยงก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วยว่ามีขั้นตอนอย่างไร ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในมาตรฐานของหมูที่เราผลิตได้” ประชุม บอก

ด้าน อรพิน เสริมว่า เนื่องจากเริ่มต้นจากเลี้ยงหมูกันเองก่อนมาตั้งแต่แรก ทำให้รู้ว่าหมูช่วงไหน ต้องการอุณหภูมิเท่าไหร่ กินอาหารเท่าไหร่ถึงจะโตดี เราดูแลเอาใจใส่เหมือนกับเลี้ยงลูก อย่างช่วงที่บริษัทส่งลูกหมูเข้าเล้าใหม่ๆ ตอน 1-2 สัปดาห์แรก ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากลูกหมูเพิ่งหย่านมก็จะไม่ค่อยกินอาหาร เราก็ทำอาหารหมูผสมน้ำ หรืออาหารโจ๊ก เพื่อกระตุ้นให้ลูกหมูได้กินอาหารเป็นเร็วที่สุด ถึงแม้ตอนนี้จะมีลูกจ้างเพิ่มขึ้นเพราะเลี้ยงหมูมากขึ้น แต่ตนเองก็ยังเข้ามาดูแลเล้าวันละ 4-5 รอบ ตอนเช้า อรพิน ก็ชอบเข้าเล้าไปเปิดไฟเพื่อกระตุ้นให้หมูลุกขึ้นมากินอาหาร และก็สอนให้ลูกน้องทำแบบนี้เหมือนกัน

นอกจากนี้ อรพิน บอกว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมารเลี้ยงหมูมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของรูปแบบการเลี้ยงที่เปลี่ยนจากโรงเรือนแบบเปิดมาเป็นโรงเรือนระบบปิด หรืออีแวป รวมถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ด้วยการจัดทำระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มด้วยไบโอแก๊ส รูปแบบที่เปลี่ยนไปนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานฟาร์มหมู ที่ทั้งช่วยลดปัญหากลิ่นและแมลงวันรบกวน ตลอดจนช่วยให้ฟาร์มหมูอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

การให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวทำให้ประชุมฟาร์ม ไม่เพียงประสบความสำเร็จในอาชีพการเลี้ยงหมูขุนมาร่วม 10 ปีเท่านั้น ที่นี่ยังถือเป็นฟาร์มตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับ 4 ดาว ประจำปี 2556 ในโครงการฟาร์มรักษ์สิ่งแวดล้อม ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“แม้ฟาร์มหมูจของเราจะเลี้ยงหมูขุนมากถึง 17,000 ตัวก็ตาม แต่ที่ฟาร์มก็ให้ความสำคัญต่อการจัดการฟาร์มให้ได้ตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด ที่สำคัญคือ การปรับปรุงฟาร์มให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลี้ยงหมูในระบบปิด การทำระบบไบโอแก๊ส มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี และยังนำน้ำจากบ่อบำบัดบ่อสุดท้ายที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดมาใช้ประโยชน์ด้วยการใช้รดน้ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จนเต็มพื้นที่ว่างภายในฟาร์ม ร่วมกับการวางผังฟาร์มที่ดีด้วยการแยกส่วนการเลี้ยง และบ้านพักพนักงานออกจากกัน มีการป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มงวดตามที่สัตวแพทย์ และสัตวบาลแนะนำ” อรพิน บอก

สำหรับข้อดีของการเลี้ยงหมูกับโครงการของบริษัทนั้น อรพิน บอกว่า ตนเองรับผิดชอบลงทุนในส่วนของโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าแรงงาน ส่วนลูกหมู วัตถุดิบ อาหาร และวัคซีนป้องกันโรค บริษัทเป็นผู้จัดหามาให้ โดยจะมีสัตวแพทย์ และสัตวบาลมาคอยดูแล รวมถึงเป็นตลาดรองรับผลผลิตทั้งหมดให้ สำหรับสิ่งที่เกษตรกรต้องทำคือ การเลี้ยงหมูให้ดีที่สุด เพื่อให้หมูแข็งแรง ปลอดจากโรค ที่สำคัญสิ่งที่ป้าอรพิน ยึดถือมาตลอดคือ ต้องมีความซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน ดูแลหมูในฟาร์มทุกอย่างเหมือนเป็นของตัวเองแม้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะเป็นของบริษัทก็ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ เพราะเธอเชื่อว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่จัดการไม่ดี ไม่เสมอต้นเสมอปลาย

อรพิน เชื่อว่าการเลือกทางเดินอาชีพใหม่ของเธอ และสามีในวันนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยงหมู พวกเขาได้ทำอาชีพอื่นๆ มานับไม่ถ้วน ทั้งค้าขาย ทำไร่ทำนา เลี้ยงไก่ แต่ก็ไม่สำเร็จอย่างที่คิดไว้ จนเมื่อมาเลี้ยงหมูกับบริษัท และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงหมู รวมถึงเทคนิควิชาการใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ด้วยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี

“การเข้าร่วมโครงการคอนแทร็กฟาร์มกับซีพีเอฟ ทำให้ป้าสามารถส่งลูกๆ ให้เรียนสูงๆ อย่างที่พวกเขาหวัง ความเป็นอยู่ และฐานะทางบ้านก็ดีขึ้น ทุกครั้งที่ได้เงินจากการเลี้ยงหมู ป้าจะเอาใบเสร็จรับเงินมาให้ลูกทั้งสองดู ทำให้ลูกๆ เห็น และรับรู้มาตลอดว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง และได้เงินมากกว่าเป็นลูกจ้าง ปัจจุบัน ลูกสาวคนแรกมาช่วยดูแลกิจการของป้า และกำลังขยายโรงเรือนอีก 3 หลัง เลี้ยงหมูขุนเพิ่มอีก 2,100 ตัว เพื่อให้ลูกชายคนที่สอง ที่จบปริญญาตรี มาได้ 2 ปีแล้ว และกำลังทำงานหาประสบการณ์อยู่กับบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ จะได้กลับมาช่วยสืบต่ออาชีพที่เราวางรากฐานไว้ต่อไป” อรพิน กล่าวทิ้งท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น